วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Gotcha!! จับฝันให้อยู่หมัด ต้องจับมันก่อนอาหารมื้อเช้า!! (time management)



คุณเหนื่อยไหม กับการพยายามประยุกต์ใช้เทคนิค การบริหารเวลา ที่สอนกันทั่วไป แต่พยายามเท่าไหร่ก็ทำมันไม่ได้ตามทฤษฏีซักที
ทั้งหลัก 4 quadrant, pomodoro, time boxing, ฯลฯ

ไม่นานมานี้ผมเพิ่งฟังหนังสือเสียงเรื่อง What the Most Successful People Do Before Breakfast

ผมพบว่าเป็นหลักการที่เวิร์คมากสุดๆ
มันสามารถทำให้ทฤษฎีบริหารเวลาอื่นๆ ที่ว่าไป ซึ่งเราพยายามประยุกต์ใช้มานานแต่ไม่ค่อยสำเร็จเพราะการควบคุมวินัยและความสม่ำเสมอนั้นยากมาก แต่เทคนิคนี้จะทำให้อำนาจการควบคุมเวลาของเรา กลับมาอยู่ในร่องในรอยและเกิดประสิทธิผลได้อย่างที่ควรจะเป็น
และที่เจ๋งกว่านั้นคือ เราจะบริหารเวลาของเราได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรมากมาย แต่ทุกอย่างจะเป็นไปโดยอัติโนมัติ
นอกจากนั้นยังทำให้ตลอดทั้งวันเรารู้สึกปลอดโปร่ง มีสมาธิดี พลอยทำให้ ประสิทธิภาพการทำงานทั้งวันดีขึ้นอีกด้วย

ฟังดูเว่อร์เกินจริง
ก่อนที่ผมจะลองใช้วิธีนี้สำเร็จก็เคยคิดแบบนั้นเหมือนกันครับ แต่พอลองแล้วก็รู้สึกว่ามันใช่เลย

หลักการนี้โดยสรุปย่อๆ คือ
งานที่สำคัญกับเป้าหมายชีวิตเราจริงๆ ควรจัดสรรเวลาเอาไว้ทำเป็นงานแรกของวัน ซึ่งเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือ ช่วงเวลาก่อนอาหารเช้า
คือเราเลือกจะ ตื่นเช้าขึ้นกว่าเดิม (แน่นอนว่าต้องนอนเร็วขึ้น) เพื่อให้มีเวลาเพิ่มขึ้นซักชั่วโมงหรือสองชั่วโมง ก่อนจะถึงเวลาอาหารเช้า แล้วเอาเวลานั้นไปทำงานที่สำคัญก่อนเป็นอย่างแรกของวันนั้นๆ

ฟังดูธรรมดามาก แต่กลับเป็นเรื่องทำยากของคนสมัยนี้
วิถีชีวิตคนสมัยนี้นั้น ชอบนอนดึกตื่นสายมากกว่า ทำให้เรื่องนี้มีน้อยคนนักที่จะได้ลองทำและเห็นผลของมันจริงๆ

เหตุผลที่วิธีนี้นั้น ได้ผลดีมาก โดยที่เราแทบไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรมากมาย นอกจากการเปลี่ยนเวลาตอนและเวลาตื่นนอนในแต่ละวันเท่านั้น อธิบายโดยสรุปตามที่ผมเข้าใจคือ

1. เราตื่นเช้ามาล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ จนถึงกินข้าวนั้น เราไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็นภาระอะไรเลย เพราะเราทำให้มัน กิจวัตรที่ต้องทำทุกวัน ดังนั้น เราจะพยายามทำให้งานที่สำคัญที่เราต้องการจัดเวลามาทำมัน ให้กลายเป็นกิจวัตรประจำวันให้ได้เหมือนกัน

2. เราจะไม่โดนสิ่ง รบกวน หรือ ขัดจังหวะ จากปัจจัยภายนอก ในช่วงเวลานั้นเลย เป็นเรื่องยากมากที่จะโดนรบกวนจากคนอื่น ในเวลาที่คนส่วนใหญ่ในโลก (รวมถึงเพื่อนร่วมงานประจำของเรา) ล้วนยังนอนไม่ตื่นกัน หรือกำลังสาละวนกับกิจวัตรตอนเช้าของตัวเองเพราะต้องรีบออกไปทำงานประจำ นอกจากนั้นโดยมรรยาทแล้ว การจะโทรไปหาใครเรื่องงาน ตั้งแต่เวลาที่เขายังไม่ตื่นหรือกินข้าวไม่เสร็จนั้น เป็นเรื่องเสียมารยาทมาก และปกติคงไม่มีใครทำกันถ้าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายจริงๆ
(ถ้าสังเกตดู ในช่วงเวลากลางวันนั้น โดยเฉพาะในที่ทำงาน เรามีโอกาสโดนคนอื่นขัดจังหวะการทำงานของเราได้ตลอดเวลา)

3. เราได้การพักผ่อนสมองมาทั้งคืนแล้ว มันเป็นเวลาที่เราสมองมีพลังเต็มเปี่ยมมากที่สุดและมีข้อมูลอื่นๆที่กวนใจกวนสมาธิเราน้อยที่สุด ในทางตรงข้าม หากเราจะเอางานเพื่อเป้าหมายชีวิตเราไปทำตอนท้ายๆของวัน หลังจากเลิกงานประจำแล้ว จะพบว่าเรา เหนื่อยล้าเกินไป ทั้งกายใจ จนประสิทธิภาพการทำงานเราต่ำมาก อยากจะพักผ่อนหรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายมากกว่าจะมาทำเรื่องซีเรียสอื่นๆมากไปกว่านี้แล้ว

4. เราจะได้รับความรู้สึก "สำเร็จ" ชิ้นเล็กๆเป็นรางวัล ก่อนจะออกไปเริ่มงานอื่นๆนอกบ้านของเราช่วงกลางวัน ซึ่งความรู้สึกนี้เป็นพลังทางจิตใจที่สำคัญ มันจะทำให้เราทำงานชิ้นต่อไปโดยสดชื่นและกระฉับกระเฉงมากขึ้นเพราะเรายังอยู่ในมู้ดของความสำเร็จอยู่ และเมื่องานชิ้นต่อไปนั้นทำเสร็จตามเป้าไปได้ดีอีก มันก็จะทำให้งานถัดจากนั้นล้วนเสร็จดีขึ้นด้วย ... กลายเป็นว่ามันส่งผลเป็นโดมิโน ตั้งแต่ต้นจนจบวัน ทำให้เรารู้สึกว่าวันนั้นเป็นวันที่เราทำอะไรก็ดีไปหมด

5. เรารู้สึกดีกับตัวเองได้มากว่า ที่ได้ทำงานเพื่อเป้าหมายชีวิตจริงๆของเราในแต่ละวันก่อนงานอื่น ทำให้เรารู้สึกได้ว่า เป้าหมายเรามีความคืบหน้าในทุกๆวัน และไม่โดนแย่ง "เวลา" ไปโดยงานที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อเป้าหมายของเรา แต่จำเป็นต้องทำ(โดยเฉพาะเพื่อการเลี้ยงชีพ) เรื่องนี้เป็นหลักการเดียวกันกับ หลักการออมเงินที่ว่า "ได้เงินเดือนมา ต้องออมก่อน เหลือเท่าไหร่ค่อยเอาไปใช้จ่าย" ในที่นี้เปลี่ยนจาก "เงินเดือน" เป็น "เวลาในแต่ละวัน" แทนเท่านั้น คือ เราต้องจ่าย "เวลา" ไปกับสิ่งที่สำคัญกับเราที่สุดก่อน เหลือค่อยไปใช้มันกับสิ่งสำคัญรองๆลงมา หากใครเคยสำเร็จในการประยุกต์ใช้หลักการออมเงินแบบที่ว่าไปมาแล้ว เขาจะเข้าใจเลยว่ามันต่างกันกับการ "เอาเงินเดือนไปใช้ก่อน เหลือแล้วค่อยออม" มากแค่ไหน

สังเกตน่ะครับ ผมพูดเหมือนกับว่า งาน"สำคัญ" กับงาน "จำเป็น" แยกออกจากกัน ไม่ใช้ความหมายทับซ้อนกัน
งาน"สำคัญ" คือวัดจากเป้าหมายชีวิตและความรู้สึกทางอารมณ์ของเรา
แต่งาน "จำเป็น" นั้น ไม่ว่าจะอยากทำหรือไม่ ก็ต้องทำเพื่อให้อยู่รอดไปในปัจจุบันก่อน
งาน "สำคัญ" ถูกผลักดันด้วยอารมณ์ความ อยาก เข้าไปใกล้กับสิ่งที่เราชอบ
งาน "จำเป็น" ถูกผลัดดันด้วยอารมณ์ ไม่อยาก จะเจอสิ่งแย่ๆที่จะตามมาหากไม่ทำงานนั้น
เรื่องนี้ถ้าจะอธิบายละเอียดมันยาว เอาแค่นิยามให้เข้าใจหัวข้อปัจจุบันก่อนก็พอ ว่ามันเกี่ยวยังไงกับเทคนิคการบริหารเวลา "ก่อนอาหารเช้า" ของเรา

ลองดูน่ะครับ คุณน่าจะทึ่งกับผลลัพธ์ของมันอย่างที่ผมเคยทึ่งกับมันมาก่อน ;)

===============
พูดคุยกันท้ายตอน

ต้องขออภัยผู้ที่ติดตามบล๊อกนี้ (น่าจะมีน่ะ 55) ด้วย ที่ผมหายไปนานเป็นเดือนๆ เพราะมีอะไรยุ่งๆกับเรื่องทางบ้านแทรกเข้ามาในเดือน ก.ค. ที่เพิ่งผ่านไป
ตอนนี้เรื่องยุ่งๆก็ผ่านไปแล้ว หลังจากนี้คงจะพอทยอยอัพบทความได้บ้าง
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ลองทำรูป cover แปะหัวบทความด้วย หวังว่าคงจะชอบกันน่ะครับ

เรื่องการบริหารเวลา แม้จะฟังดูไม่เกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งเป็นธีมหลักของที่นี่ แต่จริงๆแล้วนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ ล้วนเป็นนักบริหารเวลา (อีกนัยนึง คือนักลงทุนเวลา) ชั้นยอดครับ เพราะการบริหารเวลาเป็นพื้นฐานของความสำเร็จในทุกๆเรื่อง แน่นอนเป็นประโยชน์กับเป้าหมายด้านการเงินการลงทุนด้วย ดังนั้นจึงเป็นที่มาของบทความตอนนี้ครับ ;)

ตอนนี้ blog ผมยังจัดระเบียบบทความด้วยการแปะ tag อยู่ แต่กำลังงมๆเหมือนกันว่ามันจัดหมวดหมู่แบบอื่นที่สะดวกและเป็นระเบียบกว่านี้ได้รึเปล่า ใครมีข้อเสนอแนะก็ยินดีรับฟังเสมอครับ จะนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น :)