วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กระแสทีวีดิจิตอล, เมื่อความรู้เศรษฐศาสตร์แบบพื้นๆ ทำให้รอดจากความเสี่ยงใหญ่

"อมรินทร์"กระอัก! ขาดทุนไตรมาสแรก 117 ล้าน คิดเป็น 2,902% เหตุทีวีดิจิตอลถ่วง "โมโน"กอดคอ ติดลบ257%

พาดหัวข่าวจาก มติชน วันนี้ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1431520750)

ทำให้ผมนึกถึงเมื่อราว 2 ปีก่อน ที่กระแสทีวีดิจิตอลกำลังกรุ่นๆ ใครๆรอบตัวก็พูดถึงทีวีดิจิตอล และแน่นอนรวมถึงความคาดหวังจากการเก็งกำไรหุ้นของบริษัทที่ประกาศตัวชัดกว่าจะกระโดดเข้ามาในสนามนี้

ตอนนั้นผมหัดเล่นหุ้นใหม่ๆ ยังไม่ปีกกล้าขาแข็งนัก ก็คุ้ยๆหาหุ้นแนวอนุรักษ์นิยมหน่อย เน้นแบบกำไรสม่ำเสมอ และโตเรื่อยๆต่อเนื่อง

ไปสะดุดตากับหุ้น MCOT ซึ่งกำไรก็ดูดีมาก และยังไม่ over value

ผมเอาไปคุยกับเพื่อนๆที่ทำงาน ก็ได้รู้เพิ่มเติมว่า MCOT ก็มีแผนจะลุยตลาด ทีวีดิจิตอล เหมือนกัน (ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิด MCOT มีข่าวด้านลบซักอย่างอยู่ ซึ่งก็เป็นส่วนนึงที่ทำให้ราคาหุ้นไม่วิ่งไปเหมือนอย่างตัวอื่นๆเขา) ทำให้รู้สึกว่าดูน่าเล่นขึ้นมาทันที

แต่อยู่ๆก็นึกขึ้นได้ว่า เค้กชิ้นนึง ที่เดิมมีคนแบ่งกันกินแค่ 5-6 คน, อยู่ๆจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ที่ทำให้เค้กชิ้นเท่าเดิมนี้ จะมีคนมาแบ่งกันกินเป็นสิบๆคน แล้วผลกำไรที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องที่เห็นอยู่ตอนนี้ มันจะยังเป็นอย่างงั้นต่อไปได้หรือ .. ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้

พอคิดแบบนี้ขึ้นมา ก็เลยตัดสินใจวางหุ้นนี้ลง (รวมถึงหุ้นทีวีดิจิตอลอื่นๆด้วย เพราะราคาแพงไปหมดแล้ว และผมก็ไม่มีความรู้ในตลาดนี้มากนัก) และหันไปหาหุ้นอื่นๆ

และข่าววันนี้ ก็ออกมาเป็นอย่างที่เคยคาดเอาไว้ ทำให้รู้สึกว่าวันนั้นโชคดีที่ไม่หลวมไปเล่นในตลาดนี้ตามกระแสฮิตในช่วงนั้น

แล้วเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ยังไง ?

นิยามของเศรษฐศาสตร์ อย่างสั้นและเรียบง่ายที่สุดคือ ศาสตร์ของการบริหารทรัพยากรที่มีจำกัด เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีไม่จำกัด

ในทางกลับกัน demand ในตลาดต่างๆ ก็สามารถมองเป็น ทรัพยากรที่มีจำกัดได้ และมันต้องตอบสนองต่อความต้องการ(อันไม่จำกัด) ของบริษัทต่างๆที่จ้องจะจับ demand เหล่านั้น เรื่องนี้ก็จึงเป็นไปตามหลักพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์นี้เช่นกัน

นี่ขนาดแค่นิยามของศาสตร์เฉยๆ ก็ยังมีประโยชน์แล้ว
นักลงทุนที่จะสามารถอยู่รอดในตลาดระยะยาวๆได้ จึงควรหาความรู้ไว้เยอะๆน่ะครับ
ยิ่งรู้มากเท่าไหร่ ยิ่งลดความเสี่ยงได้มากเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น