ขอท้าวความกลับไปยังช่วงก่อนที่ผมเริ่มจะมาเป็น VI ล่ะกันครับ นั่นคือปลายปี 2012 และเข้าต้นปี 2013
ตอนนั้นผมกำลัง สับสน ตามประสาเม่าฝึกหัด ที่รู้สึกว่าวิธีการลงทุนที่ใช้อยู่มันค่อนข้างเป็นผลเสียกับการทำงานประจำมาก คือเรากระสับกระส่ายจะดูราคาหุ้นตลอดเวลา สมาธิกับงานก็เลยไม่ดี งานออกมาแย่ เลยต้องลองตั้งคำถามและทบทวนตัวเองว่า เรากำลังเดินถูกทางอยู่รึเปล่า
ตอนนั้นวิธีการที่ผมใช้อยู่ เป็นการใช้เรื่องกราฟเทคนิคและการเก็งกำไรต่างๆ จึงเริ่มสงสัยและคลางแคลงใจ ว่ามันน่าจะไม่เหมาะกับมนุษย์เงินเดือนอย่างเราซะแล้ว ถ้ามันกระทบการทำงานแบบนั้น
คนเล่นสายเทคนิคฯ ก็อาจแย้งว่าถ้าทำเป็นจริงๆมันใช้เวลาแป้บเดียวไม่กระทบงาน
แต่เอาเป็นว่าผมพยายามแล้ว แล้วรู้สึกว่ามันไม่สามารถไปถึงจุดที่ว่านั้นได้ เหตุผลก็คือ มันเต็มไปด้วยความ ไม่แน่นอน หากกราฟเปลี่ยน
เราต้องตอบสนองได้ทันควัน ไม่งั้นเราก็เสียหาย
ซึ่งนั่นเลยทำให้เราพยายามจะแว้บไปดูกราฟบ่อยๆ และดูแต่ละครั้งก็ต้องคิดว่าจะเอาไงกันแน่
เพราะหลายๆครั้งและส่วนใหญ่ กราฟมันก็ไม่ได้ชัดขนาดจะฟันธงได้ว่า นี่จะขึ้นแน่
หรือนี่จะลงแน่ๆ (ซึ่งตอนนี้ผมรู้ล่ะว่าทำไม แต่เก็บไว้เล่าตอนอื่น) แถมเรายังมีความลังเลจากข้อมูลอื่นที่ได้ยินมาจาก
ข่าว มาร์ บทวิเคราะห์ ฯลฯ
ยิ่งทำให้ตัดสินใจแต่ละครั้งนั้นเป็นการคิดที่นานและปวดหัวมาก ผมยิ่งเป็นคนนิสัยคิดเยอะคิดซับซ้อนอยู่แล้วด้วยเลยไปกันใหญ่
ตอนนั้นได้ยินว่ามันมีวิธีการลงทุนอีกแนวทางนึงเรียกว่า
VI ซึ่งไม่ต้องมาดูกราฟและปวดหัวแบบนี้
แต่ต้องไปใช้เวลามากกับการดูพื้นฐานกิจการต่างๆแทน จึงคิดว่าลองศึกษาดู
เผื่อจะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ไม่ปวดหัวทุกวันอย่างที่เป็นอยู่
ผมจึงลอง search ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ สิ่งที่เจอ นั้นมีทั้งแบบที่พอเข้าใจได้ง่ายๆอย่างเรื่องการดู P/E, P/BV หรือการหาเอาจากชีวิตประจำวันว่าอะไรที่คนนิยมซื้อนิยมใช้กัน
และยังมีเรื่องที่ชวนปวดหัวอย่างวิธีที่เรียกว่า Discount Cash Flow อีก (ซึ่ง ณ เวลานั้นผมคิดว่ามันยุ่งยากไปเลยไม่ใส่ใจมันเลย)
พอผมได้ลองใช้วิธี VI อย่างง่ายๆพวกการดูค่า P/E และ P/BV มาตรวจสอบหุ้นในพอร์ตตัวเอง ก็เจอกับอะไรที่น่าตกใจคือ หุ้นเกือบทุกตัว ทำไม P/E หรือ P/BV มันสูงกว่าที่บทความ VI เขาว่ากันไปเกือบหมด
หุ้นที่ถือช่วงนั้น ซึ่งแรกๆก็ซื้อตามมาร์แหละครับ พวก HMPRO, BCH, NUSA, MBK, AYUD ฯลฯ (มั่วไปหลายอยู่) มีตัวเดียวที่พอ OK คือ MBK ที่ตอนนั้น P/BV ยังต่ำมากคืออยู่แถวๆ 1 เอง
ซึ่งพอเห็นอย่างนั้นเลยต้องปรับอะไรหลายอย่าง (แต่บางตัวถือติดพอร์ตไว้เพราะเชื่อในเรื่อง story ของอนาคตที่ดี ตามที่มาร์บอก... เผอิญตอนนั้นยังเป็นเด็กติดมาร์อยู่)
ผมลองหาซื้อหุ้นเองตามหลัก VI เท่าที่รู้อยู่ตอนนั้น (ซึ่งมองย้อนกลับไปนี่รู้สึกว่ารู้น้อยมาก โชคดีตลาดกระทิงไม่งั้นคงเจ็บตัวแน่) ไปเจอ INTUCH ซึ่งรู้สึกว่าพื้นฐานตัวเลขอะไรๆมันดูดีมาก เลยโทรไปถามมาร์ว่าตัวนี้ดีรึเปล่า ซึ่งก็ OK แม้โดยส่วนตัวรู้สึกว่ามันยังแอบแพงไปหน่อย คือเราคาดหวังว่าราคาน่าซื้อน่าจะ 63 บาท แต่ราคาตอนนั้นมันไป 75 อะไรแล้ว แต่ด้วยความอ่อนประสบการณ์ตอนนั้นคือรู้สึกว่า ต้องหาซื้ออะไรซักอย่างติดมือให้ได้ ไม่อยากปล่อยเงินไว้เฉยๆ
(ผมว่ามือใหม่ทุกคนน่าจะเคยเจออารมณ์แบบนี้น่ะ คือทนอยู่เฉยๆไม่ได้ทั้งที่ควรอยู่เฉยๆ :P) ก็เลยซื้อไปเพราะมันดูดีสุด ณ เวลานั้น ผมย้ำอีกทีว่านี่คืออดีตผ่านไปนานหลายปีแล้ว อย่าลอกไปทำตามน่ะครับ เพราะตอนนั้นความรู้ผมยังถือว่าอ่อนด้อยมากอยู่ นอกจากนั้นก็มีหุ้นที่เข้าข่าย P/E , P/BV ต่ำหลายตัวที่ลองซื้อช่วงนั้น แต่ก็มักถือไม่นานเพราะศรัทธาในวิธีนี้อาจจะยังไม่ดีด้วยมั้ง พอเราไม่มั่นใจ หรือราคามันลงนิดๆหน่อยติดตัวแดง ก็ใจฝ่อไม่กล้าถือต่อล่ะ
ซึ่งจากการพยายามเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น ทำให้รู้สึกชีวิตเริ่มจะมีความปกติสุขกลับมาบ้าง แต่ว่า ก็ยังไม่ดีพออยู่ดี คือก็ยังติดนิสัยดูกราฟ และเวลาราคาหุ้นลงมาต่ำกว่า avg. cost ของหุ้นเราจนติดตัวแดงๆ ก็จะเป็นทุกข์เป็นร้อนว่าจะทำไงกับมันดี จะซื้อถัวดีมั้ย และถ้ามันลงต่อล่ะจะทำยังไง ฯลฯ สรุปสุขภาพจิตดีขึ้นนิดนึงครับ แต่เรารู้สึกว่าน่าจะดีได้มากกว่านี้ ทำให้เราเบาใจได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะตอนกลางปี 2013 นั้น เกิดปรากฏการณ์ที่ตลาดอยู่ๆก็เหมือนจะเกิดการปรับฐานแรงครั้งนึง คือจากที่เคยบูมสุดขีดต่อกันมาหลายปี อยู่ๆก็ร่วงมาค่อนข้างเยอะมาก คนเล่นหุ้นก็อกสั่นขวัญเสียกันใหญ่ เรียกว่าเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นสิ่งที่เรียกว่า panic sale เลยก็ว่าได้
จากนั้นเผอิญผมไปเจอหนังสือเล่มนึง
ยืนรออ่านในร้านหนังสือระหว่างรอเพื่อน เป็นหนังสือปกดำชื่อ “รู้ก่อนเล่นหุ้น VI” ซึ่งหลังจากอ่านแล้วทำให้เกิดอาการ ตาสว่าง บางประการขึ้นมา ทำให้รู้ว่าก่อนนั้นถึงจะใช้ P/E , P/BV หาหุ้น
แต่มันยังไม่อาจเรียกว่าเป็น VI ได้เลย เพราะ mindset หรือ ทัศนคติ ของเรายังไม่ได้แบบ VI และผลหลังจากได้เรียนรู้จากการปรับ ทัศนคติ ตามหนังสือเล่มนี้
ทำให้ชีวิตเรากลับมาเป็นปกติสุขขึ้นอีกครั้งอย่างแท้จริง ผมเลิกแว้บมาดูกราฟบ่อยๆ เลิกพะว้าพะวงแม้เวลาตลาดลงแล้วหุ้นเราติดตัวแดงคาพอร์ต และเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นว่า VI จริงๆเขามองเหตุการณ์ตรงหน้าอย่างไร ซึ่งพอเรามองได้อย่างที่เขามอง เรื่องการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรในแต่ละเหตุการณ์มันจะง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก
เกริ่นมาซะยาว มาสรุปกันดีกว่าว่า ทัศนคติ แบบ VI ที่ผมได้มาจากหนังสือนั้น มีอะไรบ้าง เฉพาะอันเด่นๆ
หลายๆอันอาจจะคุ้นกันอยู่แล้วเพราะมักจะมาจาก quote ของนักลงทุน VI ชื่อดังต่างๆ นั่นเอง
1. ทัศนคติที่ถูกต้อง สำคัญกว่าเทคนิคที่ถูกต้อง - ข้อนี้นั้น ค่อนข้างจะเป็นปรัชญาซักหน่อย และ ใช้ได้กับทุกๆเรื่องในชีวิตการเรียนรู้ การพัฒนาตัวเอง, เพราะทัศนคตินั้น มักจะเป็นต้นกำเนิดของ ความรู้สึก ความคิด และการกระทำต่างๆในชีวิตประจำวัน (ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเจริญก้าวหน้าของชีวิตเราแน่ๆ) ทั้งที่เราอาจจะรู้ตัว หรือไม่รู้ตัว ดังนั้นเรียกว่า ถ้าปลูกฝังทัศนคติที่ดีให้กับตัวเองแล้ว ก็เป็นการวางรากฐานที่แข็งแรงของการพัฒนาตัวเอง และเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง
2. มูลค่า (value) กับ ราคา (price) ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
ข้อนี้เป็นข้อที่ประทับใจผมมากที่สุด
คือ VI จริงๆนั้นมองว่า value คือสิ่งที่เราจะได้รับจากของที่ซื้อ และ price คือสิ่งที่เราต้องจ่าย มันเป็นคนละเรื่องกัน แม้ว่าเรามักจะพูดถึงมันด้วยหน่วยวัดเดียวกันคือ บาท (หรือสกุลเงินตราอื่นๆ)
ตัวอย่างเช่น
สมมุติมีเค้กชิ้นนึง ราคาขายปกติคือ 30 บาท, สมมุติว่าวันนึงร้านนี้จัดโปรโมชั่นพิเศษ ซื้อ 1 ชิ้น
แถมอีก 1 ชิ้น, คำถามคือ คนซื้อเค้กวันแรกที่ชิ้นละ 30 บาท กับคนที่ซื้อวันที่ร้านนี้จัดโปรโมชั่น ซื้อ 1 แถม 1 คุณคิดว่าใครซื้อได้คุ้มค่ามากกว่ากัน ?
คำถามนี้โดย common sense ตอบกันง่ายๆคือ ก็ต้องคนที่ซื้อตอนโปรโมชั่นสิ เพราะว่าจ่ายเท่ากัน แต่ได้เค้กแบบเดียวกัน กลับมามากกว่าตั้งเท่าตัว
ซึ่งก็ถูกต้องครับ โดยสามารถอธิบายได้อีกแบบคือ
คนแรก price ที่จ่ายคือ 30, value ที่ได้รับก็ 30 (ราคาปกติ)
คนที่สอง price ที่จ่ายคือ 30, แต่ value ที่ได้รับคือ 60!!
(ผมจะแทน value ด้วยจำนวนเงินเพื่อให้เข้าใจง่ายเฉยๆน่ะ แต่ในชีวิตจริงๆ มีหลายอย่างที่ value ที่ได้กลับมา ไม่ใช่เงิน หรืออาจถึงกับตีค่าเป็นเงินไม่ได้, อย่าลืมหลักสำคัญว่า value คือสิ่งที่เราได้รับ ซึ่งแต่ละคนแม้ว่าจะได้รับสิ่งเดียวกันมา มันก็อาจจะมี value สำหรับแต่ละคนที่ ไม่เท่ากัน ก็ได้)
หุ้นก็เช่นเดียวกัน หุ้นแต่ละตัวนั้นมี value อย่างนึง และ price ที่ตลาดตั้งให้มันก็เป็นอีกอย่างนึง
แม้จะมีความเกี่ยวโยงกันบ้าง แต่มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน หน้าที่ของ VI ก็คือ ต้องพยายามเข้าซื้อหุ้น ณ เวลาที่ price ที่ตลาดให้ อยู่ต่ำกว่า value ของหุ้นตัวนั้นๆ การซื้อนั้นจึงจะ คุ้มค่า, และเผอิญกว่าสิ่งที่เราคาดหวังจะได้จากหุ้นก็มักจะเป็นตัวเงินอยู่แล้ว (ไม่ว่าจะเป็น ส่วนต่างของราคา หรือ ปันผล) ดังนั้นจึงเข้าใจง่ายกว่าตัวอย่างข้างต้นที่เป็นการซื้อสิ่งของต่างๆในชีวิตประจำวันซะอีก
และด้วยทัศนคติข้อนี้ จะทำให้เราเข้าใจว่า ราคาหุ้น ที่ตลาดให้รายวันนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ต้องไปนั่งสนใจมันมากนัก, เราแค่ดูว่าวันนี้ ราคามันต่ำกว่า มูลค่าที่เหมาะสม ของหุ้นรึยัง ถ้าใช่ก็ซื้อ ถ้าไม่ใช่ก็รอไปวันอื่น, ส่วน มูลค่า หรือ value ของหุ้นแต่ละตัวนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงแบบรายวัน การรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ มูลค่า ของหุ้นนั้น ปกติเกิดขึ้นอย่างเร็วก็เป็นรายไตรมาส อย่างช้าก็รายปี (ผมไม่พูดถึงเรื่อง insider เพราะไม่ใช่เรื่องที่คนปกติทำได้) มันไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะต้องมาเดือดร้อนกับความผันผวนของราคาที่ตลาดให้กับหุ้นของเราในระยะสั้นๆรายวัน หรือรายสัปดาห์
3. เงินจะมีค่าก็ต่อเมื่อมันใช้ซื้อสิ่งที่เราต้องการได้
มูลค่าของเงินนั้น ไม่ใช่จำนวนว่ามันมีเท่าไหร่ แต่อยู่ที่ว่า มันใช้แลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่เราต้องการได้มากแค่ไหน ข้อนี้อาจจะใช้ขยายความข้อก่อนนี้ วัตถุประสงค์คือ อย่าสับสนเรื่องตัวเลขที่เป็นตัวเงิน กับ คุณค่า หรือ มูลค่า ของสิ่งที่เราจะได้รับ เพราะจริงๆนั้น มูลค่าของเงิน มันก็อ้างอิงขึ้นอยู่กับสิ่งเปรียบเทียบอื่นๆอีกทีเสมอ มันไม่ได้คงที่ ไม่ใช่มาตรวัดแบบมาตรฐาน อย่างเช่นหน่วยเมตร (วัดระยะทาง) หรือหน่วยกรัม (วัดน้ำหนัก) อะไรแบบนั้น
นอกจากนั้น ข้อนี้ยังเตือนใจว่า อย่าให้เงินมาเป็นสิ่งสำคัญเหนือทุกสิ่งในชีวิตของเรา ดูให้ดีๆว่าอะไรกันแน่ที่สำคัญ เงินเป็นเพียงเครื่องมือ อย่าถึงกับเอาความสุขทุกด้านในชีวิตทั้งหมดไปแลกกับมัน ใช้ชีวิตพอดีๆ เพราะชีวิตมีหลายด้านที่ต้องดูแลครับ
4. อย่าซื้อ ในสิ่งที่เราไม่เข้าใจมูลค่าของมัน
การที่เราจะเป็น VI ได้เนี่ย เวลาจะซื้ออะไรซักอย่าง ต้องตั้งคำถามเสมอว่า "มูลค่าที่เหมาะสมของมัน เทียบได้กับราคากี่บาท"
VI ที่ดีต้องซื้อ ของคุณภาพดี ในราคาเหมาะสม หรือ ของดีราคาถูกได้เลยก็ยิ่งดี
เรื่องหุ้นก็เช่นกัน ก่อนซื้อหุ้นแต่ละตัว และ ก่อนที่เราจะมองราคามันบนกระดานด้วย เราต้อง "ประเมินมูลค่า" ของมันออกมาได้ว่า ธุรกิจของหุ้นตัวนี้ เราเห็นว่ามันมีมูลค่าเทียบได้เป็นหุ้นล่ะกี่บาท
ทักษะนี้เป็นทักษะที่สำคัญที่สุดอย่างนึงของเป็น VI
ถ้าใครยังจิ้มซื้อหุ้นไปเลย โดยยังไม่ทันได้ประเมินมูลค่าหุ้นนั้นออกมาจากปัจจัยพื้นฐานต่างๆก่อน นั่นไม่ใช่วิถี VI แน่นอน
5. ในระยะสั้น ตลาดหุ้นเป็นตัวกำหนดราคาหุ้น แต่ในระยะยาว ตลาดหุ้นเป็นตัวสะท้อนมูลค่าของหุ้น
จริงๆข้อนี้นั้น มาจาก quote ของ เบนจามิน เกรแฮม ที่ว่า "ตลาดหุ้นในระยะสั้นเป็นเสมือนเครื่องลงคะแนน แต่ในระยะยาวเป็นเสมือนเครื่องชั่ง"
ซึ่ง ปีเตอร์ ลินซ์ ก็ได้พูดเรื่องนี้ไว้เช่นกัน แต่ด้วยสำนวนที่ต่างออกไปคือ "ในระยะยาวนั้น กราฟราคาหุ้น จะวิ่งไปตามกราฟของผลกำไรเสมอ" (ปีเตอร์ ลินซ์ มองว่า มูลค่าหลักของหุ้น มาจากความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ)
ข้อนี้โดยสรุปคือ ราคาหุ้นระยะสั้นๆนั้น จะวิ่งไปตามการให้ราคาของ Mr.Market ซึ่งก็เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย บางทีให้ราคาถูกๆ แต่แค่ข้ามวันก็ให้ราคาแพงกับหุ้นตัวนั้นซะเฉยๆ เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ในระยะยาวๆแล้วนั้น ยังไงราคาหุ้นก็จะวิ่งล้อไปในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าของหุ้นนั้น เสมอ
ดังนั้น อย่าไปบ้าจี้ตาม Mr.Market กระวนกระวายกับราคาผันผวนรายวัน เพราะพื้นฐานของธุรกิจมันไม่ได้เปลี่ยนกันง่ายๆทุกวันหรือทุกสัปดาห์
VI นั้นต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากอารมณ์แปรปรวนของ Mr.Market ให้เป็น คือวันไหนเขาอารมณ์ไม่ดีให้ราคาหุ้นถูกๆ เราก็ซื้อหุ้นจากเขา วันไหนเขาอารมณ์ดีมากให้ราคาหุ้นสูงๆ เราก็ขายหุ้นให้เขาได้ (หรือบางกรณีอาจจะไม่ขาย อันนี้รายละเอียดไว้ว่ากันทีหลังบทอื่น)
6. หุ้นคือการเป็นส่วนหนึ่ง ของการเป็นเจ้าของธุรกิจ
ซื้อหุ้นให้เหมือนกับเรากำลังจะซื้อธุรกิจ
ถ้าเราทำธุรกิจซักอย่าง เราอยากทำธุรกิจแบบไหน
อาการของธุรกิจแบบไหนที่ถือว่าเป็นธุรกิจดี กำลังรุ่ง, หรืออาการแบบไหนคือธุรกิจกำลังแย่
การมองหุ้นในลักษณะแบบนี้ จะช่วยให้เราเป็นนักลงทุนจริงๆ และไม่ตกไปอยู่ในฐานะนักเก็งกำไร
อีกทั้งการประเมินมูลค่าหุ้นตามหลัก VI ก็เป็นหลักเดียวกันกับการวิเคราะห์ธุรกิจแหละครับ
วางมุมมองกับหุ้นให้ถูก แล้วเราจะรู้เองว่าควรปฏิบัติกับหุ้นนั้นยังไง จึงจะสมเหตุสมผล
7. อย่าให้ความโลภ (หรือความกลัว) อยู่เหนือเหตุผล
การตัดสินใจใดๆ ควรอยู่บน "ข้อเท็จจริง" จากปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นๆ
หลายครั้งที่เรามักตัดสินใจผิด เมื่อเราโลภ หรือเรากลัว ตามที่สภาพแวดล้อมของตลาดบงการให้เราเป็น โดยลืมดู "ข้อเท็จจริง" ของปัจจัยพื้นฐาน ของหุ้น ว่ามันเปลี่ยนไปหรือไม่ เป็นไปอย่างที่ตลาดโลภหรือกลัว จริงๆรึเปล่า
8. หมั่นพัฒนาตนเอง และขยันฝึกฝนอยู่เสมอ
ข้อนี้ผมรวบๆ หลายข้อในหนังสือเล่มนั้น ยุบมาเป็นอันเดียวเพราะมันคล้ายๆกัน
มันเป็นหลักการของ ความสำเร็จ ในเกือบทุกๆเรื่อง
คือเราต้องขยันศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ด้านไหนเรายังไม่เก่ง ก็ทำให้มันเก่งขึ้นได้
นอกจากศึกษาทฤษฎีแล้ว ต้องเอาไปใช้ภาคปฏิบัติบ่อยๆ จนมันซึมเข้าจิตใต้สำนึก
ให้เหมือนปั่นจักรยาน ที่ถ้าฝึกปั่นเป็นแล้ว ก็จะไม่ลืมวิธีปั่นจักรยานอีก
9. อย่ายอมขาดทุน, ไม่รวยดีกว่าจน
คำว่าอย่ายอมขาดทุน อาจจะไม่ได้หมายถึงการ cut loss ตามวิธีที่นักเทคนิค ใช้กัน
แต่หมายถึง อย่าซื้อหุ้น ถ้าไม่มั่นใจในผลการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นจริงๆ (อาจจะเพราะมีตัวแปรที่คาดเดาไม่ได้เยอะไป คือความเสี่ยงเยอะไป)
ถ้าเราซื้อหุ้นแล้วระหว่างที่ถือไว้ รู้สึกว่าใจไม่สงบและกังวลเกี่ยวกับหุ้นตัวนั้นอยู่ แปลว่าเรา "ไม่มั่นใจ" อยู่น่ะครับ สังเกตใจตัวเองด้วย
ถ้าไม่มั่นใจก็ขายออกไปก่อนดีกว่าครับ พลาดตกรถ(ไม่รวย) ก็ดีกว่าขาดทุนเพราะเราวิเคราะห์พลาด
หรืออย่าดันทุรังถือหุ้นไว้ ถ้าพบว่าปัจจัยพื้นฐานมันเปลี่ยนไปแล้ว หรือพบว่าที่ผ่านมานั้น ตัวเองวิเคราะห์ผิดไป
กรณีนี้ต่อให้ขาดทุนไปแล้วก็ต้องขายหุ้นนั้นทิ้งแบบไม่เกี่ยงราคา อย่าหลอกตัวเองว่ามันอาจจะกลับมาใหม่ เพราะนั่นเป็นหนทางแห่งดอยอันหนาวเหน็บ
คำว่า ตกรถ หรือ ขายหมู นี่มันเป็นกับดักที่จะทำให้เราผิดวินัยในการเป็นนักลงทุน VI ได้ง่ายมาก
การกลัวตกรถ มันจะทำให้เราซื้อ แม้จะไม่ควรซื้อ (คือ ยังวิเคราะห์ไม่ละเอียดดี หรือ ซื้อในราคาแพงกว่ามูลค่าที่ประเมินได้)
การกลัวขายหมู มันจะทำให้เราไม่ขาย ในเวลาที่ควรจะขาย (เพราะคิดว่ามันจะไปต่อ แล้วอยู่ๆก็แปลงร่างเป็นนักดูกราฟ เสียการเสียงานอีก)
....
จบละครับ สำหรับบทนี้ :)
ขออภัยด้วยที่ดอง blog ไปซะนาน เผอิญมีเรื่องยุ่งๆเข้ามาในชีวิต
นี่เลยต้องศึกษาพวกเทคนิคด้าน time management แล้วฝึกใช้ไปด้วย รู้สึกว่าชีวิตมีอะไรต้องทำเยอะเกิน ทำไม่ค่อยจะทันเหมือนกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น