วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2559

แนวคิดเกี่ยวกับมูลค่าของหุ้น (1.1) rewrite นิดหน่อย

เผอิญรู้สึกว่าที่เขียนไว้คราวก่อนนู้น (http://sompolinvestment.blogspot.com/2015/12/1.html) มันยังรู้สึกว่าห้วนๆไปหน่อย เลยเขียนปรับปรุงเพิ่มเติมส่วนเกริ่นนำเข้าไปด้วย เผื่อจะเข้าใจง่ายขึ้นครับ
=========================

มีประโยคนึงของเกรแฮม ที่ว่าไว้ว่า การเป็น vi นั้นไม่ยาก หากคุณซื้อของเป็น ก็คือเป็น vi แล้ว

การซื้อของในชีวิตประจำวันนั้น หากเป็นการซื้ออย่างมีเหตุผล ปกติเราก็น่าจะพิจารณาจากเหตุผลประมาณว่า
- เป็นของที่จำเป็น สำหรับเรารึเปล่า ซื้อมาแล้วเราใช้คุ้มมั้ย
- ราคาเป็นเหมาะสมรึเปล่า เทียบกับร้านอื่นๆ
- มันจะลดราคาอีกเมื่อไหร่

เกรแฮมยังเปรียบเทียบไว้ว่า หากคุณเห็นแฮมเบอร์เกอร์ที่คุณอยากกิน กำลังลดราคา คุณก็คงไม่ลังเลที่จะซื้อมัน ยิ่งลดราคามากเท่าไหร่คุณจะยิ่งอยากซื้อมันมากเท่านั้น แต่เป็นเรื่องแปลกที่ในตลาดหุ้น ผู้คนกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือยิ่งเห็นหุ้นตก ยิ่งไม่กล้าซื้อ และยิ่งเห็นราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากเท่าไหร่ กลับยิ่งอยากซื้อมากขึ้นเท่านั้น

ตอนนี้อาจจะมีคนคิดว่า ฟังหรือพูดเฉยๆมันก็ง่ายสิ แต่กับหุ้นนั้นเราจะไปรู้ได้ไง ว่าราคาแบบไหนถือว่าถูก แบบไหนถือว่าแพง

ลองกลับไปนึกถึงเหตุผลเวลาที่เราใช้ซื้อของทั่วๆไปที่เปรยไว้ตอนต้น ผมคิดว่า ความถูกแพงนั้น ค่อนข้างเป็นสิ่งที่ค่อนข้างขึ้นกับการเปรียบเทียบ ค่อนข้างมาก เป็นการเปรียบเทียบในแต่ละทางเลือกที่เรามี ว่าหนทางไหน จะทำให้เราได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ โดยลงทุนลงแรงน้อยที่สุด

เช่น สมมุติผมอยากกินเค้ก ทางเลือกที่ผมมีคือ
- ทำเค้กกินเอง ซึ่งต้นทุนชิ้นละ 50 บาท
- ซื้อจากร้าน A ที่ขายเค้กชิ้นละ 30 บาท
- ซื้อจากร้าน B ที่ขายเค้กชิ้นละ 40 บาท

หากสมมุติว่าทุกทางเลือกนั้นเราได้เค้กมาหน้าตาเหมือนกัน รสชาติอร่อยพอๆกัน ผมเชื่อว่าทุกคน ย่อมเป็นทางเลือกที่ 2 แน่นอน ซึ่งมันเป็น common sense ธรรมดาที่พวกเราทุกคนใช้กัน จนเคยชิน
ซึ่งมันก็ตรงกับหลักการซื้อหุ้นแบบ vi เช่นกัน เพราะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุด

กลับมาที่หุ้น มุมมองเกี่ยวกับมูลค่าของหุ้น ตามแนวคิดของ vi ตามที่ผมเข้าใจ มีอยู่สองแนวคิดใหญ่ๆ

1. มูลค่ามาจากความสามารถในการสร้างผลกำไร
มุมมองนี้มองว่า มูลค่าหุ้น มาจากการที่หุ้นสามารถผลิตกระแสเงินจากการดำเนินงานแล้วได้กำไร แล้วปันผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น ยิ่งทำกำไรได้มาก อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นเวลานาน มูลค่าก็ยิ่งมาก
ซึ่งก็มีประเภทย่อยอีกดังนี้คือ

1.1 มูลค่ามาจากระยะเวลาคืนทุน

1.2 มูลค่ามาจาก เงินสดทั้งหมดที่มันสร้างให้กับผู้ถือหุ้นได้ในอนาคต ตลอดช่วงชีวิตของมัน - ชื่อที่คุ้นเคยกันคือ Discounted Cash Flow
;

2. มูลค่ามาจากทรัพย์สินของบริษัทที่สะสมมา (ทรัพย์สินที่ไม่ใช่หนี้น่ะ)
คือ ถ้าสมมุติว่าบริษัทจะปิดตัวลงวันนี้ แล้วต้องขายทรัพย์สินทอดตลาดทั้งหมด เพื่อเอาไปใช้หนี้ให้หมด และส่วนที่ เหลือจึงเอาไปคืนผู้ถือหุ้น ส่วนที่เหลือมาคืนผู้ถือหุ้นนี้ ในทางทฤษฎีก็คือ "ส่วนของผู้ถือหุ้น" นั่นเอง เรามองว่านี่คือมูลค่าของบริษัทนี้ทั้งบริษัท จะตีเป็นมูลค่าหุ้นอีกทีได้ (เรื่องนี้มีรายละเอียดในเชิงปฏิบัติที่แตกต่างออกไปจากทฤษฎีอยู่บ้าง เดี๋ยวไว้เล่าทีหลัง)

อันที่จริง ยังมีอีกแนวคิดนึง ซึ่งผมว่ามันไม่เข้าหลักการของ VI เท่าไหร่นัก ออกจะค่อนข้างเป็นแนว ลูกครึ่ง แต่ก็มี VI แนวหน้าของประเทศบางคนใช้กันอยู่ ก็ขอแยกเอาไว้เป็นหัวข้อพิเศษคือ

*3. ความสามารถในการทำกำไร ผสมกับการตีมูลค่าที่ตลาดมีให้กับหุ้นตัวนั้น
ซึ่งผมคิดว่า มันเป็นประเภทนึงของ Relative valuation แบบที่พวก โบรกเกอร์ หรือนักวิเคราะห์ ชอบใช้กัน เพราะมีการเอา ปัจจัยจากการให้มูลค่าของ "ตลาด" มามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

ทั้งหมดนั้นเป็นภาพกว้างๆ ซึ่งเดี๋ยวจะลงรายละเอียดเพิ่ม ว่าในแต่ละมุมมองนั้น เวลาไปใช้งานจริงต้องทำยังไง ในโอกาสหน้าครับ

=======================
ปล. อันที่จริง ... ผมมึน จำไม่ได้ว่าอัพตอนนี้ไปแล้ว ยังเขียนเพิ่มต่อไปเรื่อย พอจะมาอัพอีกทีปรากฏว่า อ่าว เคยอัพไปแล้วนี่นา ... แต่จะไม่อัพเวอร์ชั่นที่เขียนใหม่นี้ก็เสียดาย เลยขออัพหน่อยละกันครับ ><

วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2559

ทบทวนประสบการณ์การลงทุนปี 2015 ของโผม

เหตุการณ์สำคัญของผมในปี 2015 พอจะรวมได้คร่าวๆดังนี้

1. ขายหุ้นที่ถือมานาน (ผูกพันธ์) 2 ตัว
ตัวแรกคือ MBK ตัวนี้ถือมาตั้งแต่เริ่มเล่นหุ้นใหม่ๆ และเป็นหุ้นตัวเดียวที่ซื้อตามมาร์แล้วดันได้กำไร ซึ่งเหตุผลตอนซื้อนั้นมีแค่ P/BV ที่ต่ำราว 1 นิดๆ และความคิดว่า เราก็เห็นห้าง MBK มานาน คนเดินเยอะ ซื้อไว้ก็ไม่เสียหาย (ย้อนกลับไปดูแล้วก็จะเห็นว่า เหตุผลที่ซื้อนั้น ค่อนข้าง ไม่รัดกุมเอามากๆ ตามประสาเม่าฝึกหัดสมัยนั้น) หลังจากถือมาแล้วก็ค่อยๆศึกษามันไปว่า มันมีธุรกิจอะไรบ้าง ก็ค่อยๆอินกับมันมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นมันยังดูแลผู้ถือหุ้นดีด้วยน่ะ คือมีการส่งแผ่นพับที่อัพเดทความเป็นไปของบริษัทมาประมาณปีละ 2-3 ฉบับ แถมมีบัตรสมาชิก MBK เอาไว้ใช้อภิสิทธิ์ได้หลายอย่างในห้างนั้นด้วย (แต่ผมยังไม่เคยใช้เลยแม้แต่ครั้งเดียว 55) หลังจากซื้อไปไม่กี่เดือน ราคาก็กระโดดอย่างมีนัยสำคัญจริงๆ เกือบ 40% ของราคาทุน และมันก็อยู่แถวๆนั้นไม่ไปไหนต่อกันมาราว 2 ปี
ส่วนเหตุผลที่ขายนั้น ก็คือมีวันนึง ราคามันพุ่งไปแรงมาก จนผิดสังเกต ทั้งที่ไม่มีข่าวอะไรพิเศษ ณ ตอนนั้น ประกอบกับเรามาดูย้อนหลังก็เห็นว่า การเติบโตของ ปันผล ที่เราได้รับ อยู่ในระดับที่ช้าไปหน่อย แถมมีแววจะชะลออีกต่างหาก เพราะเป็นช่วงที่ไทยกำลังมีปัญหาเงินฝืดอยู่ ซึ่งจะกระทบกับหุ้นตัวนี้ได้มาก และราคาตลาด ณ ตอนนั้น หากเทียบกับราคาพื้นฐานที่ประเมินเอาไว้ ก็เกินไปค่อนข้างมาก หากเรากลับมาดูหลักการขายหุ้นของ VI นั้น นี่เป็นโอกาสดีที่จะขาย จึงตัดสินใจขายไป แม้จะยังผูกพันธ์กะมันอยู่ แต่เราไม่ควรเอาอารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผลในเรื่องการลงทุน

ตัวที่สองคือ INTUCH ตัวนี้เห็นหุ้นที่ผมซื้อจากผลการประเมินของตัวเองครั้งแรกๆเลยโดยไม่ได้พึ่งมาร์ โดยดูจากความสม่ำเสมอของผลกำไรย้อนหลัง และ Yield ปันผลยังน่าพอใจมากอีกด้วย ณ ราคาตลาดตอนนั้น และมันก็ไม่ทำให้ผมผิดหวัง เพราะราคามันก็วิ่งไปเยอะหลังจากนั้น แถมผมยังได้ปันผลที่น่าพอใจเรื่อยๆอีกตะหาก
จุดเปลี่ยนมาก็ตอนที่ เสร็จสิ้นการประมูล 4G รอบแรกเมื่อราวเดือน ต.ค. 2558 ที่ผ่านมา เมื่อรู้ผลการประมูล แล้วพบว่าประมูลกันราคาสูงมาก การหาเงินมาโปะตรงนี้คงยากทีเดียว โดยไม่กระทบกับการปันผลให้ได้ในระดับเดียวกันกับปีที่แล้วมา อีกทั้งผมสัมผัสได้ถึงความ ดุเดือด เกินไปของตลาดนี้ และสิ่งที่เป็น input ของธุรกิจอย่าง กรรมสิทธิ์ในคลื่นความถี่ ที่คล้ายกับเป็นสัมปทาน แบบนึง ต้องมาแก่งแย่งกันกินแย่งกันใช้แบบหน้ามืดขนาดนี้ มันแปลว่าโอกาสที่เหล่าธุรกิจสื่อสารจะเติบโตต่อไปได้อีกนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องยากแล้ว แถมยังต้องทำสงครามราคากับค่ายอื่นๆอีก, โดยส่วนตัวคิดว่าธุรกิจที่ดีนั้น ต้องเป็นธุรกิจที่มีช่องทางให้โตได้ และต้องเป็นผู้สร้างสรรค์ มากกว่าผู้แข่งขันที่ต้องอยู่สภาพแวดล้อมทีต้องแก่งแย่งทรัพยากรบางอย่างกันอย่างน่าสงสารแบบนี้ ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจขายไปทั้งหมด (และก็พบว่าเราคิดถูก เมื่อการประมูล 4G รอบที่ 2 จบลงพร้อมกับราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารทั้งหมดกลับมาดิ่งเหวกันส่งท้ายปี 2015 อย่างโหดร้าย)

จริงๆมีหุ้นตัวอื่นที่ขายออกไปในปี 2015 นี้ด้วย แต่ไม่ได้มีประเด็นน่าสนใจเหมือนสองตัวที่ว่าไปข้างต้น ก็ขอข้ามๆไปล่ะกันครับ

2. ทำความเข้าใจและทดลองใช้ Turtle trading กับกองทุน น้ำมัน
ช่วงต้นปี มีน้องในที่ทำงานเดียวกันคนนึง ซึ่งกำลังหัดลงทุนและไฟกำลังแรง ได้มาชวนดูกองทุนน้ำมัน โดยมีความเห็นกันว่า จุดนี้น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของน้ำมันกันแล้ว สินค้าโภคภัณฑ์แบบนี้ ต้องกลับมาโดดขึ้นแน่นอน พร้อมกับได้ ถกและวิเคราะห์กันไปในเรื่องนี้พอควรจนผมก็คล้อยตามไปด้วย แม้จะยังกังวลว่านี่ไม่ใช่รูปแบบการลงทุนที่เราถนัด (ผมเคย fail จากตลาดทองมาก่อน สมัยเป็นเม่า) แต่ก็มีอารมณ์อยากลองวิชา Turtle trading ที่ก็ได้ศึกษาและทำความเข้าใจอยู่พอดี
อย่ากระนั้นเลย ก็ลองใช้ซะ ว่ามันจะเป็นยังไง
ผลที่ได้นั้น ค่อนข้างน่าพอใจกับระบบ Turtle trading ที่เดียว และยืนยันว่าระบบนี้คือต้นแบบที่เหมาะกับการศึกษาหากใครอยากเป็นสาย trading จริงๆ
สุดท้าย ผมก็เสียค่าครูให้สนามนี้ไปอ่ะน่ะ (ขาดทุน) เคราะห์ดีว่าเงินก้อนที่มาลงนั้นปริมาณไม่เยอะมากนัก
ข้อคิดที่ได้จากการทดลองนี้คือ
- การใช้ระบบ trading กับกองทุนรวมที่มีความผันผวนนั้น ไม่ควรอย่างยิ่ง เหตุผลก็คือ กองทุนรวมนั้น ตอบสนองต่อการสั่งซื้อขายของเราช้าเกินไป ระบบดีแค่ไหนก็ไม่รอดครับ, แต่ กองทุนรวมนั้น เหมาะกับ passive investment ที่สุด (ซื้อทุกเดือนแบบ DCA ไป) แต่ต้องเป็นกองทุนหุ้นดัชนีเท่านั้น พวกสินค้าโภคภัณฑ์ จะเล่นต้องเป็นสนามที่เรา trading ได้ คือเราเป็นคนสั่งซื้อขายเองได้ และผลการซื้อขายนั้นก็เกิดขึ้นโดยตรงทันที เท่านั้นครับ
- ถ้ายังเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ ก็ไม่เหมาะจะเล่นแนว trading ครับ มันรบกวนการทำงานมากทีเดียว บางคนอาจจะทำได้น่ะ แต่จากการที่ผมทดลองกับตัวเอง รู้สึกไม่ peaceful กับแนวทางนี้ คือมันทำให้ชีวิตไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่น่ะ ผมชอบการลงทุนแบบมีความสงบสุขในจิตใจมากกว่า

3. หุ้นใหม่ๆ นั้นหายากมาก
ผมพยายามค้นหาหุ้นใหม่อยู่เรื่อยๆ แต่แทบไม่เจอตัวที่ผ่านเกณฑ์เลย แถมในภาพรวมหุ้นยังตกตลาดหดอีก ซึ่งนั่นทำให้พอร์ตรวมของผม ส่วนที่เป็นหุ้นก็หดลงไปมาก กลายเป็นมีสัดส่วนของเงินสดมากกว่าหุ้นมาก แต่การที่หาหุ้นผ่านเกณฑ์ไม่ได้ นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราจะอลุ่มอะล่วยในหลักการเลือกซื้อหุ้นซะด้วย การลดมาตรฐานในการคัดกรองหุ้นลง เพื่อให้พอซื้อหุ้นได้บ้าง นั้นอาจเป็นอันตรายมากกว่าจะได้ประโยชน์
แต่สุดท้ายผมก็เลือกหุ้นเข้าพอร์ตมา 2 ตัว (ไม่ต้องหลังไมค์มาน่ะครับ ผมไม่ใบ้หุ้นครับ ^^! ) ซึ่งเป็นหุ้นคุณภาพกลางๆ และราคาค่อนไปทางถูก ปันผลค่อนข้าง ok ก็รอดูว่าจะเป็นไงต่อไปครับ

ปล. อัพเดท ณ มี.ค. 59 , วันนี้มันทั้งคู่ก็ลบไปเกือบ 10% ละครับ ฮาๆ นี่ไงเลยไม่บอกหุ้นใครเดี๋ยวจะมาว่าผมทีหลัง (ผมไม่มีใบอนุญาติมันผิดกฏหมายด้วย) แต่ยังไม่เห็นว่าพื้นฐานมันแย่ตรงไหน ก็รอดูต่อไปครับ ตลาดช่วงนี้ที่ fund flow ไหลมารอบนี้มันแปลกๆ หุ้นปันผลดีๆ ดันตก หุ้นตลาดนิยม ขึ้นกันหมด เห็นเพื่อนบ่นหลายคนครับ

4. ซื้อแป้บนึงก็ขาย หลังจากวิเคราะห์เพิ่มแล้วพบว่าไม่ใช่ (ใจร้อน รีบซื้อเกินไป โดยวิเคราะห์เพียงผิวเผิน)
มีหุ้นประมาณ 2 ตัวเป็นอย่างน้อย ที่ผมกรองมาแบบหยาบๆ แล้วก็ซื้อไปเลยโดยคิดว่าค่อยไปวิเคราะห์ลงลึกเอาทีหลัง ดูเหมือนว่าหุ้นทุกตัวที่ด่วนเข้าซื้อเกินไปแบบนี้ สุดท้ายก็ต้องมาขายทีหลังในราคาที่ขาดทุนด้วย เพราะเมื่อศึกษามันเพิ่มก็มักจะพบว่า มันไม่ได้ดีอย่างตัวเลขผิวเผินที่เราใช้ตัดสินใจในครั้งแรก
เป็นบทเรียนว่า เราควรจะวิเคราะห์ให้มั่นใจจริงๆ ก่อนจะเข้าซื้อ จะดีกว่ามาก จะได้ไม่เสียอารมณ์และเสียเวลาทีหลัง แถมเสียค่าครูด้วย แบบนี้

5. ทดลองเขียน blog
ความคิดนี้เกิดจาก เพื่อนผมเห็นว่า ผมไปตอบกระทู้การลงทุน หรือการวิเคราะห์ให้เพื่อนฟังนั้น เนื้อหามันมีประโยชน์ดีและเราก็ถ่ายทอดได้ดี ทำไมถึงไม่รวบรวมเอาไว้เป็นกิจลักษณะ อย่างการเขียน blog ละ เวลามาหาอ่านจะได้อ่านง่ายๆในที่เดียว ไม่กระจัดกระจายแล้วหายไปกับกระทู้ที่ก็จะตกหน้าจอไปเมื่อเวลาผ่านไป จะมาอ่านอีกก็หาไม่เจอ
ผมก็เลยลองเขียน blog ที่คุณกำลังอ่านกันอยู่นี้ขึ้นมา
แรกๆก็ตั้งใจจะเขียน สัปดาห์ละบทความ ซึ่งก็ทำได้แค่ช่วงแรกๆ หลังจากนั้นก็เริ่มห่างขึ้นๆ จนกว่าจะรู้ตัวก็เหมือนจะกลายเป็น blog ดองไปซะแล้ว
การเขียนอะไรอย่างสม่ำเสมอนั้นดูเป็นอะไรที่ต้องมีวินัยมากพอดูสำหรับผม แต่มันก็ทำให้รู้สึกดีเหมือนกัน ต่างจากการง่วนกับแผนการลงทุนของตัวเองคนเดียว โดยไม่ได้แบ่งปันประสบการณ์หรือความรู้อะไรให้คนอื่นเลย
ปี 2016 นี่ก็จะพยายามดองให้น้อยลง และศึกษาฝึกปรือให้มากขึ้น จะได้มีเรื่องใหม่ๆมาเขียนให้ได้อ่านกันเรื่อยๆครับ

6. แบ่งพอร์ตส่วนนึงไปทดลองวิธีแบบ passive investment
คือลอง DCA นั่นเองครับ
สืบเนื่องจาก หุ้นที่ผ่านเกณฑ์นั้น หาแทบไม่ได้ ไม่รู้จะลงทุนอะไรดี เพราะสัดส่วนเงินสดชักจะเยอะไปละ เลยไปมองกองทุนรวม ที่ลงทุนในต่างประเทศบ้าง และได้ลอง แบ่งเงินลงทุนแต่ละเดือน มาลงตั้ง DCA เป็นสัดส่วนเล็กๆดูว่าจะเวิร์คมั้ย เพราะปู่บัฟเฟต เคยบอกว่า เป็นวิธีง่ายและเหมาะกับมือใหม่ คือ DCA ในกองทุนหุ้นดัชนี เลยจัดไปซะ 2 กอง อันนึงเป็น healthcare อีกอันคืออ้างอิง S&P500
ผลคือ กอง healthcare ตัดออกไปละครับ เพราะมาลองดูรายละเอียดเบื้องหลัง พบว่า P/E กองนี้เฉลี่ยแล้วแพงเกิน (การ DCA ให้ดี เรายังต้องสนเรื่องความถูกแพงอยู่บ้างน่ะครับ) แถมมีความเสี่ยงผูกกับนโยบาย Obama care ซึ่งส่อแววไม่สู้ดี เราเป็น VI ก็เลยถอยออกมาดีกว่า
ส่วน อีกตัวยังไปเรื่อยๆ เพราะอยากพิสูจน์สิ่งที่ปู่บัฟเฟตฯ บอกไว้ครับ (แล้วหุ้นเมกา ก็ดิ่งเอาๆ 555 ก็ดูกันต่อไปครับ)

7. ปรับพอร์ต บนสมมุติฐานว่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และไทยค่อนข้างหดตัว มูลค่าของพอร์ตผมเอง ในส่วนที่เป็นหุ้น ก็หดตัวลงตามตลาดไปมากเช่นกัน ผมเองอาจไม่ใช่คนชำนาญในเรื่อง เศรษฐกิจโลกมากนัก แต่จากการดูข่าวเศรษฐกิจทั่วๆไป ตลอดปีที่ผ่านมา ก็รู้สึกว่าปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งโลกในตอนนี้นั้น ดูแก้กันไม่จบง่ายๆ แน่นอน ไม่ว่าจะยุโรป เมกา จีน ญี่ปุ่น มีแต่ข่าวด้านลบ และข่าวถึงการชะลอตัวเต็มไปหมด หากมองกราฟหุ้นในภาพกว้างๆ ช่วงนี้คงเป็นช่วงซบเซาของรอบใหญ่ ซึ่งปกติกว่าจะลงกันสุด และนิ่งนั้น อาจใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะเริ่มฟื้นตัว ดังนั้น ผมจึงวางแผนการถัวเฉลี่ยลงไปในกองทุนรวมหุ้น เพื่อให้สัดส่วนพอร์ตกลับไปยังตัวเลขที่ผมต้องการ (อารมณ์เหมือน portfolio's rebalancing) โดยวางกรอบเวลาไปยาว 1 ปี จากเดือน ก.ย. 58 ไปถึง ส.ค. 59

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตัวแปรในแผนบางตัวได้เปลี่ยนไป หลังผ่านปีใหม่ 2559 มา ผมจึงได้หยุดแผนเก่าไว้และกำลังทำแผนใหม่อยู่ครับ
การมีวินัยทำตามแผนนั้นดีครับ แต่ต้องดูด้วยว่า สมมุติฐานที่ใช้ตอนวางแผนครั้งแรก มันยังเป็นจริงรึเปล่า ถ้าสมมุติฐานพวกนั้น เปลี่ยนไปหมดแล้ว ต้องปรับตัวให้ทันครับ

ทั้งหมดนั้น เป็นเหตุการณ์หลักๆด้านการลงทุนของผม ในปีที่ผ่านมา ก็มีบทเรียนที่ยังต้องเอาไปพัฒนาแก้ไขกันต่อไป ทุกครั้งที่เราคิดว่ารู้เยอะแล้ว มักจะมีเหตุการณ์ที่ดึงเรากลับมาสู่จุดที่เราคิดว่า เรายังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมาก ต้องเก่งให้ได้มากกว่านี้อีก, เป็นประจำ
ซึ่งสุดท้ายแล้ว วันที่เราเรียนจบด้านนี้นั้น อาจไม่มีอยู่จริง แต่เราอาจต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ก็เป็นได้

แล้วคุณผู้อ่านละครับ ปีที่ผ่านมาเป็นยังไงบ้าง มีประสบการณ์เจ๋งๆ หรือเรื่องคันปากอยากเล่าก็แชร์กันได้น่ะครับ :)

======================================
ปล. โดยปกติผมจะหลีกเลี่ยงการระบุชื่อตัวหุ้นตรงๆในการเขียน blog
เพราะไม่อยากให้เป็นการชี้นำอะไร เนื่องจากผมเป็นแค่นักลงทุนส่วนบุคคลเท่านั้น
แต่ผมคิดว่า การพูดถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านไปนานซักระยะนึงแล้ว
น่าจะพอทำได้โดยไม่ผิดเรื่องข้อกฏหมายอะไรด้านนี้ (เห็น blogger
ด้านการลงทุนดังๆหลายท่านเขาทำกันได้อ่ะน่ะ) และน่าจะเป็น กรณีศึกษา
ที่มีประโยชน์กับนักลงทุนคนอื่นๆได้มากกว่าที่จะพูดลอยๆโดยไม่มีตัวอย่างจาก
ของจริงมาประกอบ ก็หวังว่าจะมีประโยชน์กับคนอ่านได้บ้างน่ะครับ :)