วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2559

แนวคิดเกี่ยวกับมูลค่าของหุ้น (1.1) rewrite นิดหน่อย

เผอิญรู้สึกว่าที่เขียนไว้คราวก่อนนู้น (http://sompolinvestment.blogspot.com/2015/12/1.html) มันยังรู้สึกว่าห้วนๆไปหน่อย เลยเขียนปรับปรุงเพิ่มเติมส่วนเกริ่นนำเข้าไปด้วย เผื่อจะเข้าใจง่ายขึ้นครับ
=========================

มีประโยคนึงของเกรแฮม ที่ว่าไว้ว่า การเป็น vi นั้นไม่ยาก หากคุณซื้อของเป็น ก็คือเป็น vi แล้ว

การซื้อของในชีวิตประจำวันนั้น หากเป็นการซื้ออย่างมีเหตุผล ปกติเราก็น่าจะพิจารณาจากเหตุผลประมาณว่า
- เป็นของที่จำเป็น สำหรับเรารึเปล่า ซื้อมาแล้วเราใช้คุ้มมั้ย
- ราคาเป็นเหมาะสมรึเปล่า เทียบกับร้านอื่นๆ
- มันจะลดราคาอีกเมื่อไหร่

เกรแฮมยังเปรียบเทียบไว้ว่า หากคุณเห็นแฮมเบอร์เกอร์ที่คุณอยากกิน กำลังลดราคา คุณก็คงไม่ลังเลที่จะซื้อมัน ยิ่งลดราคามากเท่าไหร่คุณจะยิ่งอยากซื้อมันมากเท่านั้น แต่เป็นเรื่องแปลกที่ในตลาดหุ้น ผู้คนกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือยิ่งเห็นหุ้นตก ยิ่งไม่กล้าซื้อ และยิ่งเห็นราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากเท่าไหร่ กลับยิ่งอยากซื้อมากขึ้นเท่านั้น

ตอนนี้อาจจะมีคนคิดว่า ฟังหรือพูดเฉยๆมันก็ง่ายสิ แต่กับหุ้นนั้นเราจะไปรู้ได้ไง ว่าราคาแบบไหนถือว่าถูก แบบไหนถือว่าแพง

ลองกลับไปนึกถึงเหตุผลเวลาที่เราใช้ซื้อของทั่วๆไปที่เปรยไว้ตอนต้น ผมคิดว่า ความถูกแพงนั้น ค่อนข้างเป็นสิ่งที่ค่อนข้างขึ้นกับการเปรียบเทียบ ค่อนข้างมาก เป็นการเปรียบเทียบในแต่ละทางเลือกที่เรามี ว่าหนทางไหน จะทำให้เราได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ โดยลงทุนลงแรงน้อยที่สุด

เช่น สมมุติผมอยากกินเค้ก ทางเลือกที่ผมมีคือ
- ทำเค้กกินเอง ซึ่งต้นทุนชิ้นละ 50 บาท
- ซื้อจากร้าน A ที่ขายเค้กชิ้นละ 30 บาท
- ซื้อจากร้าน B ที่ขายเค้กชิ้นละ 40 บาท

หากสมมุติว่าทุกทางเลือกนั้นเราได้เค้กมาหน้าตาเหมือนกัน รสชาติอร่อยพอๆกัน ผมเชื่อว่าทุกคน ย่อมเป็นทางเลือกที่ 2 แน่นอน ซึ่งมันเป็น common sense ธรรมดาที่พวกเราทุกคนใช้กัน จนเคยชิน
ซึ่งมันก็ตรงกับหลักการซื้อหุ้นแบบ vi เช่นกัน เพราะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุด

กลับมาที่หุ้น มุมมองเกี่ยวกับมูลค่าของหุ้น ตามแนวคิดของ vi ตามที่ผมเข้าใจ มีอยู่สองแนวคิดใหญ่ๆ

1. มูลค่ามาจากความสามารถในการสร้างผลกำไร
มุมมองนี้มองว่า มูลค่าหุ้น มาจากการที่หุ้นสามารถผลิตกระแสเงินจากการดำเนินงานแล้วได้กำไร แล้วปันผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น ยิ่งทำกำไรได้มาก อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นเวลานาน มูลค่าก็ยิ่งมาก
ซึ่งก็มีประเภทย่อยอีกดังนี้คือ

1.1 มูลค่ามาจากระยะเวลาคืนทุน

1.2 มูลค่ามาจาก เงินสดทั้งหมดที่มันสร้างให้กับผู้ถือหุ้นได้ในอนาคต ตลอดช่วงชีวิตของมัน - ชื่อที่คุ้นเคยกันคือ Discounted Cash Flow
;

2. มูลค่ามาจากทรัพย์สินของบริษัทที่สะสมมา (ทรัพย์สินที่ไม่ใช่หนี้น่ะ)
คือ ถ้าสมมุติว่าบริษัทจะปิดตัวลงวันนี้ แล้วต้องขายทรัพย์สินทอดตลาดทั้งหมด เพื่อเอาไปใช้หนี้ให้หมด และส่วนที่ เหลือจึงเอาไปคืนผู้ถือหุ้น ส่วนที่เหลือมาคืนผู้ถือหุ้นนี้ ในทางทฤษฎีก็คือ "ส่วนของผู้ถือหุ้น" นั่นเอง เรามองว่านี่คือมูลค่าของบริษัทนี้ทั้งบริษัท จะตีเป็นมูลค่าหุ้นอีกทีได้ (เรื่องนี้มีรายละเอียดในเชิงปฏิบัติที่แตกต่างออกไปจากทฤษฎีอยู่บ้าง เดี๋ยวไว้เล่าทีหลัง)

อันที่จริง ยังมีอีกแนวคิดนึง ซึ่งผมว่ามันไม่เข้าหลักการของ VI เท่าไหร่นัก ออกจะค่อนข้างเป็นแนว ลูกครึ่ง แต่ก็มี VI แนวหน้าของประเทศบางคนใช้กันอยู่ ก็ขอแยกเอาไว้เป็นหัวข้อพิเศษคือ

*3. ความสามารถในการทำกำไร ผสมกับการตีมูลค่าที่ตลาดมีให้กับหุ้นตัวนั้น
ซึ่งผมคิดว่า มันเป็นประเภทนึงของ Relative valuation แบบที่พวก โบรกเกอร์ หรือนักวิเคราะห์ ชอบใช้กัน เพราะมีการเอา ปัจจัยจากการให้มูลค่าของ "ตลาด" มามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

ทั้งหมดนั้นเป็นภาพกว้างๆ ซึ่งเดี๋ยวจะลงรายละเอียดเพิ่ม ว่าในแต่ละมุมมองนั้น เวลาไปใช้งานจริงต้องทำยังไง ในโอกาสหน้าครับ

=======================
ปล. อันที่จริง ... ผมมึน จำไม่ได้ว่าอัพตอนนี้ไปแล้ว ยังเขียนเพิ่มต่อไปเรื่อย พอจะมาอัพอีกทีปรากฏว่า อ่าว เคยอัพไปแล้วนี่นา ... แต่จะไม่อัพเวอร์ชั่นที่เขียนใหม่นี้ก็เสียดาย เลยขออัพหน่อยละกันครับ ><

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น