ผมเพิ่งตระหนักว่า การเลือกหุ้นด้วยตัวเอง ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินและปัจจัยพื้นฐานนั้น เราสามารถ เข้าใจธุรกิจของมัน ได้ง่ายกว่าการพยายามเข้าใจเศรษฐกิจภาพรวมของทั้งประเทศ หรือของโลก มากๆ
และอะไรที่เราเข้าใจมันได้มากกว่า ย่อมมีความเสี่ยงต่ำกว่า สิ่งที่เราเข้าใจมันได้น้อย
จึงเกิดความคิดว่า บางที การเล่นหุ้นแบบ vi นั้นอาจจะปลอดภัยกว่าซื้อกองทุนแบบ passive ก็เป็นได้
แม้ว่ากูรูด้านการลงทุนของโลกอย่าง บัฟเฟตฯ หรือเทรนการเรียนการสอนของสถาบันการด้านการเงิน (ซึ่งหลักๆเป็นสาย passive investment) จะบอกว่าการ DCA กองทุนหุ้นดัชนี เป็นสิ่งที่ดีและปลอดภัยสำหรับ คนทั่วไปที่ไม่มีความรู้และเวลาในการลงทุนมากนัก ก็ตาม
แต่การ DCA กองทุนหุ้นดัชนี ก็มีข้อควรระวัง ที่อาจเป็นกับดักสำหรับนักลงทุนได้เหมือนกัน (ไม่เชื่อลองไปดูดัชนีย้อนหลังของตลาดญี่ปุ่น เป็นอุทาหรณ์)
เหตุผลก็คือ DCA จะได้ผลดี ถ้า
- ตลาดค่อนข้างเป็นตลาดที่พัฒนาแล้ว หรือที่เรียกว่าตลาดมีประสิทธิภาพ
- *ประเทศนั้นเศรษฐกิจเติบโตดี ในระยะยาว และ
- *เราเริ่ม DCA ณ ตอนที่ดัชนีของตลาดโดยรวมนั้น ราคาไม่แพง
เงื่อนไขที่ดูจะ ตรวจสอบหรือยืนยันผลได้ยาก ในโลกความเป็นจริงนั้นคือ สองข้อหลัง
การประเมินหุ้นตัวนึงๆว่ายากแล้ว การประเมินภาพรวมของทั้งดัชนี หรือประเทศนั้น ยิ่งเป็นเรื่องยากกว่า ทั้งในแง่มุมของเทรนการเติบโต และความถูกแพง
เพราะแทนที่เราจะมี งบการเงิน และโมเดลธุรกิจแต่ละตัวให้พิจารณา เราต้องมาดูภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศซึ่งประกอบกันขึ้นมาจากธุรกิจหลากหลายรูปแบบ
ซึ่งต่อให้มืออาชีพอย่างนักวิเคราะห์ หรือแบงก์ชาติ ก็ยังคาดการณ์อนาคตแบบนี้ถูกบ้างผิดบ้าง ยิ่งถ้ามองระยะยาวก็ยิ่งใกล้เคียงกับการเดาเข้าไปอีก (เราถึงได้ยินข่าว นักวิเคราะห์ หรือ แบงก์ชาติ ออกมาปรับประมาณการเรื่องเศรษฐกิจกันบ่อยๆ ตลอดทั้งปี)
ผมเองเคยคิดว่าเรื่องนี้น่าจะง่ายอย่างการเอาเทรนด์ของ GDP ย้อนหลังหลายๆปีมาพิจารณา แต่ก็พบว่า ความเกี่ยวข้องกันของ GDP กับ ดัชนีตลาดหุ้น นั้นต่ำมาก คือเราไม่สามารถใช้สถิติของ GDP ย้อนหลัง มาคาดการณ์ดัชนีของตลาดหุ้นได้ว่ามันจะขึ้นหรือลง
(มีคนพยายามอธิบายเหตุผลนี้ไว้ที่นี่ http://www.forbes.com/sites/jerrybowyer/2013/04/21/does-gdp-growth-predict-the-direction-of-stocks/#10bdf1e54f13 )
นอกจากนั้น ปัจจัยที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้มีแต่การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆเพียงอย่างเดียว มาถึงยุคนี้ ปัจจัยจาก ต่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของ fund flow ก็เริ่มมีผลอย่างมากกับตลาดการลงทุนแบบต่างๆ
แล้วไอ้การเคลื่อนไหวของ fund flow ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผลมาจาก นโยบายที่เปลี่ยนไปของแบงก์ชาติประเทศใหญ่ๆ เช่น US, EU, จีน ฯลฯ คือพอพวกนี้ออกข่าวที ก็มีผลกระทบโดยทันที ไปทีนึง จากประสบการณ์ในตลาดทองของผมในอดีต การพยายามคาดเดาว่าคนพวกนี้จะออกมาพูดอะไร ผมคิดว่าค่อนข้างเสียเวลาเปล่า มันแทบไม่ต่างกับการเดาสุ่มเท่าไหร่
คือ พวกเขาจะออกข่าวร้ายสลับข่าวดี เหวี่ยงตลาดไปๆมาๆ หลายรอบ กว่าบทสรุปสุดท้ายจะออกมา
นี่ถ้าพวกเขามีเล่นทริกนิดหน่อยแล้วมีผลประโยชน์ทับซ้อนแฝงอยู่ ก็คงเป็นการ "เล่นรอบ" ทำกำไรกันไปได้มากโขเลยทีเดียว (แต่โดยหลักการแล้ว กฏหมายประเทศต่างๆ จะควบคุมคนพวกนี้ไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างเคร่งครัด .... มั้ง :v )
นอกจากนั้นในประเด็นเรื่องความถูกแพง เดิมผมคิดว่าตลาดหุ้นประเทศอื่นๆจะเข้าถึงข้อมูลอย่าง p/e และ p/bv เฉลี่ยของตลาดได้ง่ายๆเหมือนตลาดหุ้นเมืองไทย แต่ก็พบว่าผมคิดผิด มันเป็นข้อมูลที่หาได้ยาก ราวกับว่าตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้นๆเอง ไม่อยากให้คนทั่วไปเข้าถึงเรื่องนี้ได้
กลับมาดูที่พอร์ตตัวเอง ผมแบ่งการลงทุนในหุ้นออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ
ครึ่งนึงเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวม อีกครึ่งนึงเป็นการเลือกหุ้นเพื่อลงทุนด้วยตัวเอง
กองทุนรวมหุ้นส่วนใหญ่ของผมนั้น เป็นกองทุนที่ลงทุนภายในประเทศ แต่ตอนนี้ดัชนีของตลาดหุ้นบ้านเราก็เข้าข่ายตลาดที่แพง เดิมคิดว่าจะย้ายไป DCA ประเทศอื่นบ้าง แต่ก็ยังหาที่ลงไม่ได้ง่ายเท่าไหร่ จากเหตุผลที่เล่าไปข้างต้น
ตลาดหุ้นที่รู้ว่า p/e ตอนนี้ต่ำมาก และเป็นพี่ใหญ่ของโลกด้านเศรษฐกิจ มีเห็นชัดอันนึงคือจีน แต่ผมอยากได้ตัวเลือกอื่นเพิ่มด้วยอีกซัก 1-2 ตัว มากระจายความเสี่ยงกันหน่อย แต่ยังหาไม่ค่อยจะได้เลย
บางที ผมน่าจะกลับไปหาหุ้นเป็นตัวๆ กองทุนอสังหาที่ปันผลสูง หรือตราสารหนี้ระยะสั้น เป็นทางเลือกเสริม แทนที่จะติดอยู่กับการสร้างพอร์ตตามสัดส่วนที่ออกแบบไว้แต่เดิม น่าจะดีกว่าใช้เวลาทั้งหมดไป กับการพยายามหากองทุนหุ้นดัชนีดีๆในต่างประเทศ แต่ไม่ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจกลับมาเลย เป็นแผนสำรองในสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกหาที่ลงทุนใหม่ๆได้ยากอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น