วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2561

วิธีบันทึกประวัติการลงทุนของตัวเอง - สิ่งที่กูรูหลายคนลืมสอน

ช่วงนี้เพื่อนผมคนนึง เพิ่งเริ่มเล่น crypto currencies (พวกสกุลเงิน ดิจิตอล เช่น bitcoin, ethereum )
ทั้งแบบฝากเหมืองขุด และแบบเทรด แล้วกำลังเริงร่ากับผลลัพธ์ในการเทรด ที่ผ่านเพิ่งมาไม่กี่วัน (ไม่ถึงสัปดาห์ดี) ทั้งยังบอกว่าการเทรดเก็งกำไรเป็นเรื่องง่ายนิดเดียว

ผมก็เลยให้คำแนะนำบางอย่างไป และคิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับผู้ติดตามบทความผมด้วย ไม่ว่าจะเป็นสาย เก็งกำไร หรือ สาย VI

ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่า ปัจจุบัน ผมไม่ได้เล่นแนวเก็งกำไรอะไรเลย เน้นการลงทุนระยะยาว และสไตล์ passive เป็นหลัก ดังนั้นผมคงเรียกว่าเป็นเทรดเดอร์อย่างเต็มปาก ไม่ได้
แต่ผมเคยอยู่ในตลาดทองคำมาก่อนในช่วงแรกเริ่มหัดลงทุน และนั่นเป็นประสบการณ์เก็งกำไรหลักๆ ที่ผมได้เรียนรู้ ซึ่งแม้จะเลิกเล่นไปแล้ว ก็ยังมีศึกษาเพิ่มเติมอยู่บ้างเพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ จนผมคิดว่าเข้าใจหลักการพื้นฐานของการเก็งกำไรดีแล้ว ก่อนจะมาแบ่งปันเรื่องการลงทุนโดยการเขียนบทความบน blog นี้ ดังนั้นรับรองว่าไม่มั่ว

แต่วันนี้ผมก็ไม่ได้มาเล่าเรื่องหลักการเทรดทั้งหมดอะไรให้ฟัง (มันยาวมันเยอะ เอาไว้ถ้ามีคนขอมาเยอะๆค่อยกว่ากัน เพราะยังไงผมจะเน้นแนว VI เป็นหลักมากกว่า) แต่จะมาพูดถึงพื้นฐานสำคัญอันนึง ที่สุดท้ายแล้ว มันจะทำให้คุณเป็นนักลงทุนที่เก่งได้เร็วกว่าคนที่ไม่รู้หลักนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวเก็งกำไร หรือแนว VI

สิ่งที่ผมจะพูดถึงวันนี้คือ การบันทึกประวัติการลงทุนของตัวเอง

โดยปกติคนเรามักจะเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ แต่ว่าในโลกของการลงทุน มันมีสิ่งนึงที่มักจะบิดเบือนประสบการณ์และบทเรียนไปแบบผิดๆ สิ่งนั้นคือ อคติ
มนุษย์เรา มีอคติ ที่มักจะคิดเข้าข้าง และหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองอยู่เสมอ
ดังนั้นแม้จะมีประสบการณ์บางอย่างมาแล้ว แต่ถ้าข้อเท็จจริงนั้นมันเหมือนกับว่าเราคือคนผิด จิตใต้สำนึกเรามักจะพยายาม "ปฏิเสธ" และหาเหตุผลสนับสนุนตัวเอง หรือข้อแก้ตัว มาบิดเบือนข้อเท็จจริงนั้น บทเรียนที่ได้จากข้อเท็จจริงอันบิดเบือนนั้น จึงกลายเป็นบทเรียนที่บิดเบือนและใช้จริงไม่ได้ไปด้วย

การบันทึกประวัติการลงทุนของตัวเอง อย่างถูกวิธี จะเป็นสิ่งที่ป้องกันอิทธิพลของอคติเหล่านั้น ในการเรียนรู้

ผมได้รู้เรื่องนี้จากหนังสือเสียงเล่มนึงของ ดร.นิเวศน์ (ซึ่งเขาก็อ้างอิงว่าเป็นคำสอนของ จอร์จ โซรอส อีกที) ว่าการจดบันทึกเหตุผลในการซื้อของของเราทุกครั้ง และย้อนกลับมาศึกษามันบ่อยๆ ผลลัพธ์มันจะมหัศจรรย์มาก

วิธีการทำงั้นง่ายๆ
คือเราจะต้องบันทึกประมาณว่า
- ว/ด/ป
- เหตุผล/สมมุติฐาน ในการซื้อ หรือ ขาย ครั้งนั้น
- ราคา , volume
- สรุปผล (จำแนกด้วย 2 ตัวแปร หรือ 4 ความเป็นไปได้ , เหตุผลเราถูก-ผลลัพธ์ถูก, เหตุผลเราถูก-ผลลัพธ์ผิด, เหตุผลเราผิด-ผลลัพธ์ถูก, เหตุผลเราผิด-ผลลัพธ์ผิด)




อธิบายเพิ่มสำหรับการสรุปผล ว่าผลลัพธ์ 4 แบบนั้นหมายถึงอะไร
- เหตุผลเราถูก-ผลลัพธ์ถูก = เหตุผลที่เราใช้ และผลลัพธ์ที่เกิด ไปในทางเดียวกัน เป็นเหตุเป็นผล กัน
- เหตุผลเราถูก-ผลลัพธ์ผิด = เหตุผลที่เราใช้ก็ยังเป็นจริงในวันสรุปผล เพียงแต่ว่ามันอาจมีตัวแปรอื่นที่คิดไม่ถึงซึ่งทำให้ผลลัพธ์สุดท้ายนั้นไม่เป็นไปตามที่เราคิดไว้
- เหตุผลเราผิด-ผลลัพธ์ถูก = เหตุผลเราสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ผลลัพธ์กลับไปในทางที่เราทำนาย (เช่น คิดว่าราคามันจะขึ้นไปอีก 5% แล้วมันก็ขึ้นไปจริงๆ แต่ด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่ตรงกับเหตุผลที่เราใช้) ...... อันนี้ไม่ได้เรียกว่าเราเก่ง แต่เรียกว่าฟลุ๊ก อย่าหลงตัวเองว่าเก่ง
- เหตุผลเราผิด-ผลลัพธ์ผิด = ตรงไปตรงมา เมื่อเหตุผลที่เราคิดไว้มันดันผิดไปจากสิ่งที่เกิดขึ้น ผลลัพธ์ก็ย่อมไม่เป็นไปทางที่เราคิดไว้



เล่นๆไปแล้วให้มาย้อนอ่านดูด้วยเป็นพักๆ แล้วสรุปบทเรียน ให้ตัวเอง
มันจะช่วยให้คุณได้บทเรียนที่ ปลอดจากอคติ และใช้ประโยชน์ได้จริง
เมื่อคุณสะสมบทเรียนนี้ไปมากขึ้นเรื่อยๆ คุณจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ และเป็นความเก่งของจริง ไม่ใช่มโนไปเอง

หวังว่าผู้อ่านจะได้ประโยชน์จากบทความนี้ และขอให้ประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้ทุกคน ไม่ว่าจะเลือกลงทุนกับอะไรก็ตามครับ :)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น