วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2563

[covid-19 เราต้องรอด] วิเคราะห์ เกี่ยวกับดราม่าประกันสังคม ที่คนหาว่า สปส. กับรัฐบาล ฮุบเงินหายไป (ซึ่งผมว่าไม่จริง)

เผอิญยังมีเพื่อนผมข้องใจเรื่องประกันสังคมอยู่ ผมเลยตอบไปแล้วเลยเอามาแปะที่นี่ด้วยละกัน เพื่อใครยังคาใจประเด็นเดียวกันจะได้เข้าใจมากขึ้น

คือจากข่าว มีคนตีความกันไปว่า สปส. มีเงินพอจ่ายผู้ประกันตนแค่ 7-8 แสนคน ซึ่งเป็นแค่ 7% ของผู้ประกันตนทั้งหมด และยังเป็นเงินแค่ราวๆ 23.6% ของกองส่วนที่กันเอาไว้สำหรับจ่ายชดเชยผู้ประกันตนกรณีโดนเลิกจ้างหรือว่างงานทั้งหมด และโวยวายว่าเงินที่เหลือหายไปไหน โกนกินกันไหมหมดแล้วใช่ไหม - -a

เท่าที่ผมอ่านข่าวที่ว่าจากที่นี่ : https://www.sanook.com/news/8082622/
เขาก็ตอบค่อนข้างเคลียร์นะ ไม่ควรอ่านแค่พาดหัว ไปอ่านเนื้อหาข้างในก่อน อ่านเฉพาะช่วงท้ายๆก็ได้สำหรับประเด็นคาใจข้อที่ว่าไป

ทีนี้ขออธิบายเพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น

เริ่มด้วยแนวคิดของประกันสังคมก่อน
มันคือเครื่องมือที่ใช้จัดการกับสังคมที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีวินัยทางการเงิน หรือบริหารการเงินส่วนบุคคลเองไม่ค่อยเป็น
คนประเภทว่าหาเงินได้เท่าไหร่ก็ใช้หมด ไม่เหลือออม หาได้มากก็ใช้มาก ไม่เคยดำเนินการแผนเกษียณล่วงหน้า หรือค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉิน สำหรับตัวเองอย่างจริงจัง
ซึ่งคนประเภทนี้ดันเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม

ดังนั้นเลยมีการตั้งประกันสังคมขึ้นมา เป็นเครื่องมือที่บังคับให้ทุกคนมีการบริหารเงินตรงนั้นโดยอัติโนมัติ
ซึ่งก็ครอบคลุม 3 ด้านใหญ่ๆ

1). เงินรักษาพยาบาล (ก็เหมือนประกันสุขภาพนั่นแหละ)
2). เงินช่วยเหลือชดเชยกรณีว่างงาน จากการถูกเลิกจ้าง
3). เงินเพื่อการเกษียณ

เงินสมทบประกันสังคมที่เราโดนหักไปจากเงินเดือนทุกเดือน ประมาณเดือนละ 750 บาท เรียกว่า เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
แต่ในทางเทคนิคในแวดวงประกัน เราถือว่าเงินตรงนี้เหมือนการจ่ายเบี้ยประกัน
ทีนี้ บางสื่อ บางเพจ หรือบางคน เอาไปบิดเบือนสร้างวาทกรรม เรียกมันว่า "เงินสะสม" ซะงั้น ซึ่งผิดความหมายมากๆ
พอนึกว่าเป็นเงินสะสม เลยไปคิดโยงกับการฝากธนาคาร ที่เรามีสิทธิถอนเมื่อไหร่ก็ได้เท่าที่มีในบัญชี ซึ่งมันไม่ใช่เลย

เบี้ยประกันตรงนี้ ถูกแบ่งไปเข้า 3 กองที่ว่าไปข้างต้น
ทีนี้ เงินที่คนเรียกร้องให้จ่ายให้ผู้เดือดร้อน ในกรณี covid-19 จัดอยู่ในข้อ 2). คือ เงินช่วยเหลือชดเชยกรณีว่างงาน จากการถูกเลิกจ้าง

จากข่าว ที่ผมแชร์มาจากโพสต์นี้ https://web.facebook.com/sompolinvestment/posts/2815738901869527
ภาพข่าวจาก ช่อง 9 MCOT ระบุว่าเงินส่วนนี้มีอยู่ทั้งหมดราว 164,103 ล้านบาท (เขาเรียกว่ากองทุนว่างงาน)

ทีนี้ สมมุติต้องจ่ายเงินให้คน 7 แสนคน คนละ 9000 บาทต่อเดือน ต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน
จะคิดเป็นเงินราว 37,800 ล้านบาท (คิดเป็น 23.6% ของเงินกองนี้ทั้งหมด 164,103 ล้านบาท)
ผู้ประกันตนทั้งหมดในระบบนี้ (มาตรา 33 มนุษย์เงินเดือน) มีอยู่ราว 11.6 ล้านคน
ซึ่ง 700,000 / 11,600,000 = 6% ของผู้ประกันตนทั้งหมด
คนก็โวยวายกันว่า ทำไมช่วยคนได้แค่ 6% เงินที่เหลือหายไปไหน โกงใช่ไหม บลาๆ

เพื่อตอบเรื่องนี้ เราต้องเข้าใจแนวคิดพื้นฐานของระบบประกันภัยก่อน
ระบบประกันภัย เป็นระบบ กระจายความเสี่ยง ในหมู่ผู้เอาประกันที่อยู่ในแผนประกันเดียวกัน
คนที่ไม่เคยเคลม ก็บ่นว่าขาดทุน
ใครได้เคลม ก็รู้สึกคุ้มค่ามาก
เพราะมันคือการเอาเบี้ยประกันรวมทั้งหมด มาจ่ายให้คนที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน จนเข้าเกณเคลมเงินประกันได้
ซึ่งโดยปกติ คนที่เกิดเหตุจนต้องเคลม มันต้องเป็นคนส่วนน้อยๆ จากจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมด
มันทำให้ความเสี่ยงโดยรวมของกลุ่มผู้เอาประกันทั้งหมด ลดลงไปอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยเดียวกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการบริหารชีวิตและบริหารเงินมาก

ดังนั้นโดยสรุปคือ
- ไม่มีแผนประกันใดออกแบบไว้ให้ผู้เอาประกันทุกคนเคลมพร้อมกันได้ (ถ้าระดับความเสี่ยงสูงขนาดนั้น จะไม่มีการตั้งกองประกันขึ้นมาตั้งแต่แรก เพราะไม่มีประโยชน์ในการช่วยลดความเสี่ยงเลย)
- จำนวนคนที่เคลมพร้อมกันได้ ปกติไม่ได้สมมุติหรือกะประมาณขึ้นมาเอง แต่ใช้การวิเคราะห์สถิติย้อนหลัง 7 - 10 ปี (หลายทีอาจจะ 20 ปี) เพื่อดูว่าตัวเลขไหนสมเหตุผล โดยมีการเผื่อ safety factor ไว้บ้าง
ผมลองดูเลขคนว่างงานย้อนหลังจากที่นี่ https://www.bot.or.th/App/BIZSHR/stat/DataSeries/31  ย้อนไป 10 ปี มันไม่เกิน 1% เลย สำหรับคนที่อยู่ในระบบเงินเดือนมาก่อน
ดังนั้นการที่ สปส. จ่ายให้ได้ถึง 6% ของมาตรา 33 (มนุษย์เงินเดือน) จึงเป็นการเผื่อ safety factor ไว้ในระดับค่อนข้างสูงมากอยู่แล้ว
และ safety factor ก็ไม่ควรมากเกินไป (ก่อนโลกจะรู้จัก covid-19 กับ หลังจากมี covid-19 ตรงนี้มันต่างกันมาก)
เพราะการบริหารกองประกันที่ดี ตัวกองทุนเองต้องไม่ใช่โตขึ้นเรื่อยๆอย่างเร็วในตลอดเวลาที่ผ่านไป (เพราะนั่นแปลว่ามีการให้ผลตอบแทนผู้เอาประกันน้อยเกินไป ไม่ยุติธรรม)
- ประกันจะมีการเอาเงินบางส่วนไปลงทุนอยู่แล้ว เผื่อให้สามารถเพิ่มวงเงินคุ้มครองให้ผู้เอาประกันได้นิดหน่อย และมีกำไรเพิ่มอีกนิดหน่อยสำหรับตัวบริษัทประกันเอง สัดส่วนการลงทุนขึ้นกับความเหมาะสมของเงินกองนั้นๆ ว่าใช้สำหรับอะไร (เงินสำหรับเกษียณจะถูกจัดพอร์ตแบบความเสี่ยงต่ำสุดเสมอ, ส่วนแบบอื่นๆก็ว่ากันไป)
- กองทุนขนาดใหญ่ การแปลงสินทรัพย์แต่ละประเภทไปๆมาๆ ไม่ใช่แค่คลิกก็เสร็จ (สินทรัพย์ใดๆที่ไม่ใช่เงินสด เวลาจะแปลงเป็นเงินสดต้องเอาไปขาย และพอการขายมีปริมาณมหาศาลมาก คนจะซื้อได้ก็มีแต่พวกสถาบันการเงินด้วยกันเอง ซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะมีคนมาซื้อไปจนครบได้เงินตามต้องการ)

นั่นคือคำอธิบายว่า ทำไมตอนนี้มีเงินจ่ายแค่ 23.6% จากทั้งหมดของ 164,103 ล้านบาท
เพราะว่าส่วนที่บอกว่าจ่ายได้นี้ ผมเดาว่าเป็นส่วนที่มีสภาพเป็น เงินสด ดังนั้นจึงจ่ายได้เลย
ส่วนที่เหลืออันอื่นน่าจะอยู่ในรูป พันธบัตร ตราสารหนี้ หุ้น ฯลฯ ที่ถ้าจะเอามาจ่ายต้องเอาไปขายก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างที่ว่าไป
ซึ่งหากเลวร้ายที่สุด ต้องใช้เงินกองนี้ทั้งหมด 164,103 ล้านบาท ก็จะครอบคลุม ผู้ประกันตน 26.2% ของผู้ประกันตนทั้งหมด ซึ่งก็ถือว่าจ่ายได้เยอะมากแล้ว (แต่หลังจากนี้อาจจะต้องยุบกองไปเลย เว้นแต่รัฐฯ จะโปะเงินเข้ามาให้ใหม่)

หวังว่าจะเข้าใจมากขึ้นนะครับ
ถ้าประเทศเราไม่มีระบบประกันสังคม แล้วคุณต้องบริหารชีวิตตัวเอง ไปซื้อประกันแต่ละกองเอง คุณก็หลีกหนีหลักการพวกนี้ไม่พ้นเหมือนกัน แถมปวดหัวมากกว่าใช้บริการประกันสังคมที่มีคนทำให้เกือบทุกอย่างด้วย
ข่าวเดี๋ยวนี้ก็ช่างปั่น ไม่สนจริยธรรมในการนำเสนออะไร
ถ้าเรามีความรู้ไม่พอ เขาก็ปั่นได้ ขายข่าวได้
และพวกนี้ไม่เคยรับผิดชอบความเสียหายอะไรที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นจำเลยในข่าวเลย
ยุคนี้เสพข่าวแบบฟังหูไว้หู ใช้วิจารนญานมากๆครับ
มีความรู้ทางการเงินติดตัวไว้มากๆ จะได้ไม่โดนใครหลอกเรื่องเงินๆทองๆได้ง่าย เวลาจะตรวจสอบรัฐบาลฯหรือวิจารณ์ จะได้มีหลักการรองรับด้วย

ปล. ตัวเลขอาจจะมีพลาดบ้าง ต้องขออภัยล่วงหน้า แต่ต้องการให้เข้าใจภาพรวมทั้งหมดของสิ่งที่เรียกว่าประกันสังคมกันครับ

วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2563

[Covid-19 เราต้องรอด] ทำไมธนาคารหรือสถาบันการเงินถึงไม่หยุดดอกเบี้ย!! หรือให้จ่ายแบบลดเงินต้นได้!!

ความเห็นผมต่อการที่สถาบันการเงินยังคิดดอกเบี้ย และเหมือนจะไม่ได้ช่วยอะไรในเรื่องวิกฤติ covid-19 ที่กำลังเผชิญกันอยู่

ผมเข้าใจว่า สถาบันการเงินเองก็มีรายจ่ายประจำอยู่ เช่น ค่าจ้าง พนง. (ค่าดูแลระบบIT, ค่าไฟ, ค่าเช่าสถานที่บางแห่ง) และดอกเบี้ยก็คือแหล่งเงินพวกนี้
ถ้าจะให้พักหนี้หยุดดอกเบี้ยจริงๆ ต้องตอบคำถามให้เขาได้ด้วยว่า ทำยังไงกับรายจ่ายหลักอย่างเช่น เงินเดือน พนง.
1). เลิกจ้าง (มีต้นทุนค่าชดเชยเลิกจ้าง ซึ่งก็มากโขถ้าปลดออกเยอะๆ ก็คงเจ๊งอยู่ดีเหมือนมีเงินไม่พอจ่ายค่าชดเชยเลิกจ้างงานตามกฏหมาย)
2). เก็บเอาไว้ (ต้องหาเงินจากที่อื่นมาจ่ายตรงนี้แทน แล้วจะเอาจากไหนละ?)


ระบบเศรษฐกิจเรามีความสัมพันธ์กันแบบงูกินหาง จึงยากมากที่ node อันใดอันนึงจะหยุดไว้เฉยๆโดยไม่กระทบกับ node อื่นๆ
ถ้าจะหยุด ต้องหยุดพร้อมกันหมดทั้งระบบ รวมถึงจุดที่รับทรัพยากรใหม่เข้ามาในระบบ (คือทรัพยากรณ์ที่เราได้จากธรรมชาติโดยตรง เช่น เหมืองแร่, แหล่งน้ำดิบ, แหล่งน้ำมันดิบ ฯลฯ)
อีกประเด็นคือ จริงๆแล้วธุรกิจประเภทธนาคารนี่ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงมากๆ (ทรัพย์สินส่วนใหญ่คือหนี้)
การที่เรามองเหมือนว่าพวกนี้เสกเงินอออกมาได้เอง หรือเป็นเสือนอนกิน ก็อาจจะไม่ได้ตรงความเป็นจริงนัก

ก็ดูกันต่อไปว่าเขาจะหาทางออกกันยังไง
แต่จากเรื่อง covid-19 นี่ เศรษฐกิจกระทบหนักแน่นอน
คนที่เตรียมความพร้อมทางการเงิน (ออมเงินไว้ยามฉุกเฉิน ให้อยู่ต่อได้อย่างน้อย 6 เดือน) ก็อาจจะเดือดร้อนน้อยหน่อย ใครที่ไม่ได้เตรียมอะไรไว้เลย ก็น่าจะเป็นงานที่ลำบากมาก ณ เวลานี้
ก็ขอให้ผ่านกันไปได้ทุกคนครับ