วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วันนี้หุ้นลงเยอะต้องเรื่องนี้เลย "เข้าหุ้นแล้วพลาดติดดอย ทำยังไงดี"



พักนี้ตลาดหุ้นไทย ก็ยังค่อยๆเตี้ยลง เตี้ยลง
เผอิญผมนึกขึ้นได้ว่าเมื่อก่อนเคยตอบกระทู้นึงเอาไว้ เรื่องการติดดอย คิดว่าเข้ากับเหตุการณ์พักนี้ดี เลยรีบเอามาลงก่อน เพราะเผื่อบางคนจำเป็นต้องใช้ (จริงๆตอนนี้เขียนบทความอื่นค้างไว้อยู่แต่ยังไม่ทันเสร็จ)

เรื่องมันมีอยู่ว่า ...
กาลครั้งนึง นานมาแล้วซักพัก ผมไปเจอกระทู้นึงในกลุ่ม ThaiVI ใน facebook เป็นกระทู้เรื่องเข้าซื้อหุ้น IPO แล้วติดดอย ไม่รู้จะทำยังไงดี

ซึ่งผมคิดว่า
1.
สำรวจสถานะของตัวเองให้กระจ่างก่อน - avg.cost ที่ถืออยู่ตอนนี้ เป็นตำแหน่งที่ไปต่อในกลยุทธ์ไหนได้บ้าง (เพราะตอนเข้าซื้อไม่มีกลยุทธ์อะไรเลย) เช่น เป็นตำแหน่ง VI สายปันผลได้หรือไม่, เป็นตำแหน่ง VI สาย C.G.ได้หรือไม่ , หรือเป็น ตำแหน่งเล่นเก็งกำไรได้อย่างเดียว

1.1
ตำแหน่ง VI สายปันผลได้ - (avg.cost เราอยู่ต่ำกว่ามูลค่าเหมาะสมของวิธีสายปันผลนี้) ดูว่าลักษณะธุรกิจผลกำไรสมำเสมอในระยะยาว (ต้องดูผลกำไรย้อนหลังซัก 7 ปีขึ้นไป) ไม่โดนแทนที่ในตลาดหรือเสียความสามารถในการแข่งขันได้ง่ายๆ อัตราปันผลเป็นที่น่าพอใจอยู่แล้ว (5% ขึ้นก็พอได้สำหรับยุคนี้, แต่ถ้าได้มากกว่านั้นยิ่งดี) , อันนี้ถือยาวไปไม่ต้องไปกังวลกับราคาในตลาด

1.2
ตำแหน่ง VI สาย C.G.ได้ - (avg.cost เราอยู่ต่ำกว่ามูลค่าเหมาะสมของวิธีสาย C.G. นี้) ประเมินจาก EPS, P/BV หรือ ROE โดยไม่สนปันผลที่จะได้รับ (บางบริษัทปันผลได้น้อยหรือไม่ปันผลเลยก็ได้ถ้าเขาเอาไปลงทุนต่อได้ดี ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง) ถ้าพื้นฐานมันยังดีอยู่ (สม่ำเสมอในระยะยาว, ไม่โดนแทนที่หรือเสียความสามารถในการแข่งขันได้ง่าย) ก็รอจนราคากลับไปที่มูลค่าเหมาะสมแล้วขายไปตามวิถีของคนเล่นเอา C.G. โดยยังไม่ต้องกังวลราคาตลาดตอนนี้

1.3
ตำแหน่งเล่นเก็งกำไรได้อย่างเดียว - คือ avg.cost ของเราอยู่สูงกว่ามูลค่าเหมาะสมแบบ VI ไม่ว่าจะประเมินวิธีไหน - ไม่ค่อยกล้าแนะนำเลยครับ คงต้องเล่นแนวเทคนิคฯ อย่างเดียว แต่ถ้ายังขาดทุนไม่ถึง 5% แล้วยังไม่มีสัญญานเทคนิคในลักษณะกลับตัว เป็นผมคงขายออกมาตั้งหลัก ที่เสียไปถือว่าเป็นค่าครู คราวหลังศึกษาเพิ่มดีๆก่อนเข้าไปเล่นใหม่, แต่ถ้าเกิน 5% ไปแล้วและยังไม่มีสัญญานกลับตัว กูรูสายนี้บางคนก็ถือคติไม่ขายไม่ขาดทุน ให้ทำใจ (แต่บางทีผมก็คิดว่า ถ้ามันไม่มีสัญญานกลับตัวใดๆเลย แปลว่ายังไม่เห็นก้นเหว แนวโน้มคือลงได้อีก และไม่รู้จะลงไปลึกได้อีกแค่ไหน ชิ่งออกมาก่อนอาจจะดีกว่าเงินจมก็ได้), แต่ถ้าเริ่มเห็นสัญญานกลับตัวบ้าง รอมันรีบาวน์แล้วชิ่งออกมาก็ได้ครับ

ซึ่งทั้ง 2 แบบแรกนั้น ต้องเช๊คให้แน่ใจด้วยน่ะครับ ว่าที่ราคาลงมาเนี่ย มันลงมาตามตลาดโดยรวมเฉยๆ ไม่ใช่การลงมาเพราะปัจจัยพื้นฐานของตัวบริษัทเองที่เปลี่ยนไปในทางแย่ ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลัง โดยหลักการควรต้องถอนตัวออกจากหุ้นตัวนั้นทันทีครับ (อ้างอิงบทความ “จะขายหุ้นเมื่อไหร่”: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/494384 )

กรณีถ้าเป็นหุ้น IPO มักจะไม่ค่อยมีงบย้อนหลังให้ดูยาวๆ การประเมินมูลค่าเหมาะสมนั้นทำได้ยากและคลาดเคลื่อนได้ง่าย เพราะออกแนวเหมือนคาดเดาอนาคตไปหน่อย - -a
ถ้าจะให้ประเมินจากงบปีล่า สุดปีเดียว คงคิดเอาง่ายๆบนสมมุติฐานว่าบริษัทไม่มีการเติบโต เช่น ถ้าใช้วิธีคิดจาก EPS แล้วอยากได้ราคาที่ P/E เท่ากับ 10 ก็เอา
10 =  P/E
ใส่ค่า EPS ลงไปตรง E ครับ แล้วแก้สมการหาค่า P ไปเลย เช่นสมมุติ EPS เป็น 0.5
10 = P/0.5
10*0.5 = P
P = 5

ซึ่ง ค่า P/E ที่เหมาะสมก็มีหลายแนวอีก เกรแฮมฯ บอกเหมาะสมคือ 8.5 ส่วน ปีเตอร์ ลินซ์ บอกว่า 10 ก็เล่นได้แล้ว อันนี้แล้วแต่คนแล้วครับว่าชอบต้นแบบนักลงทุนคนไหน

แต่ในความเป็นจริง คงไม่มีบริษัทไหนได้กำไรเท่าเดิมทุกปี ปกติต้องมีการเติบโต ดังนั้นสิ่งที่ในสูตรด้านบนไม่ได้รวมอยู่ด้วยคือเรื่องของ Growth rate (ของผลกำไร) ซึ่งในทางปฏิบัติควรต้องเอามาคิดด้วยครับ

ถ้าเล่นตามแนว ดร.นิเวศน์ฯ ถึงธุรกิจจะดีมากๆจริง ก็ไม่ควรเข้าที่ P/E เกิน 20 ครับ บนสมมุติฐานที่ว่าธุรกิจนั้นดีมากขนาดจะเติบโต 20% ต่อปีอย่างต่อเนื่องไปได้หลายๆปี เพราะว่าในโลกความเป็นจริง บริษัทที่จะโตเกิน 20% ต่อปีได้ต่อเนื่องซัก 5 ปีขึ้นไป นั้นแทบจะไม่มีให้เห็นอยู่ในโลกจริงๆเท่าไหร่ครับ ตลาดมักอิ่มตัวไปก่อน
หรือโดยสรุปย่อๆคือ P/E ควรจะต้อง น้อยกว่าหรือไม่เกิน Growth rate ครับ

นอกจากนั้น วิธีประเมินมูลค่าแบบ VI ยังไม่ได้มีวิธีนี้วิธีเดียวด้วย ยังมีอีกหลายวิธี แล้วแต่จะเลือกใช้ให้เหมาะกับหุ้นตัวนั้นๆครับ (ลักษณะธุรกิจต่างกัน ก็เหมาะกับวิธีประเมินมูลค่าต่างกันไปด้วยครับ)

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ประเด็นเรื่อง กรีซ จะชักดาบ หรือออกจาก EU เห็นเขาว่าเป็นเรื่องใหญ่ (?)

พักนี้ข่าวเศรษฐกิจที่ออกบ่อยๆ ก็เห็นจะเป็นเรื่อง กรีซ ซึ่งมีหนี้สินมหาศาล และทำท่าจะกำลังจะผิดนัดชำระหนี้ IMF จำนวน 1,600 ล้านยูโร... ซึ่งนี่แค่งวดเดียว แต่จริงๆ กรีซ หนี้ท่วมกว่านั้น คือเป็นหนี้หลัก 3 แสนล้านยูโร จากเจ้าหนี้หลายราย (จำได้ลางๆว่าตัวหลักๆมี ECB กะ EU)

แล้วตอนนี้ก็เล่นเสี่ยงทายกับผลประชามติ ของวันที่ 5 ก.ค. นี้อยู่ ว่าประชาชน กรีซ จะยอมรับเงื่อนไขรัดเข็มขัดของเหล่าเจ้าหนี้หรือไม่

สำหรับผม คำถามนี้ตอบได้ง่ายมาก ด้วยคำว่า "ไม่รู้" :P

ข่าวนี้อาจจะมีประเด็นสำคัญต่อตลาดหุ้นอยู่บ้าง แต่นั่นคือสำหรับนักเก็งกำไร ที่ต้องเฝ้าระวังเรื่อง fund flow ซึ่งจะทำให้ดัชนีโดยรวมของตลาด พุ่งขึ้น หรือ ดิ่งลง ได้

แต่สำหรับนักลงทุนแนว VI นั้น เรื่อง กรีซ อาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไร ถ้าบริษัทที่คุณถือหุ้นอยู่ ไม่ได้มี กรีซ หรือ EU เป็น ลูกค้า หรือ supplier ที่เกี่ยวข้องกัน

อันที่จริง ต่อให้ธุรกิจที่เราถือ มีความเกี่ยวข้องกับ EU อยู่บ้าง แต่ผมก็ไม่คิดว่า EU จะได้รับผลกระทบมากนัก

ถ้ามองว่า กรีซ เป็นเนื้อร้าย หรือคนประเภท มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ที่ฝังตัวอยู่กับ EU มานาน
การที่วันนึง EU ตัดส่วนแย่ๆนี้ออกไปได้ มันอาจจะเจ็บบ้างในระยะสั้นๆ (งบดุล ช่องทรัพสิน ลูกหนี้รายใหญ่กลายเป็นหนี้สูญไปซะงั้นนี่นา) แต่ในระยะยาวๆ น่าจะไปได้ไกลและคล่องตัวยิ่งกว่าตอนที่ต้องหิ้วปีก กรีซ ไปไหนมาไหนด้วย

สมมุติน่ะครับ ... ถ้าสุดท้าย กรีซ ออกไปจาก EU จริงๆ ใครที่กังวลว่า จะมีชาติอื่นๆเลียนแบบกรีซ มันก็ขึ้นกับว่า ชะตากรรมของกรีซ หลังจากออกไปจาก EU นั้น เป็นอย่างไร
ถ้าเป็นไปในทางดีขึ้น ชาติอื่นๆที่เป็นหนี้ท่วมเหมือนกันอย่าง สเปน, อิตาลี่ ก็อาจจะเลียนแบบก็ได้
แต่ดูท่าทางแล้ว แค่ตอนนี้ที่ยังไม่ได้ออกจาก EU จริงๆ บ้านเมืองกรีซ ยังอลหม่านราวกับกำลังจะเกิดสงครามโลกก็ไม่ปาน ภาพข่าวที่ออกมาน่าสังเวชมาก
และดูๆแล้ว การเสียสิทธิประโยชน์ในฐานะสมาชิก EU ไป น่าจะส่งผลร้ายกับ กรีซ มากกว่าจะเป็นผลดี
ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ก็คงไม่มีใครอยากเลียนแบบหรอกครับ

แต่สุดท้ายจะฟันธงว่ามันจะออกไปทางไหน ก็คงต้องตอบคำเดิมคือ "ไม่รู้" หรอกครับ และก็คงไม่มีใครรู้อนาคตแบบนั้น
และการพยายามเดา ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งด้วยสำหรับการลงทุน

แต่สิ่งที่ควรทำคือ ให้เราคิดกรณี worst case เอาไว้ (ซึ่งอาจจะมีหลายๆแบบก็ได้) และประเมินดูว่ามันกระทบ ธุรกิจที่เราถือหุ้นอยู่ มากน้อยแค่ไหน
ถ้ามันไม่ได้กระทบยอดขายหรือต้นทุนของบริษัทเรา ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล
ต่อให้ fund flow จะส่งผลให้หุ้นลงทั้งตลาดและหุ้นของเราโดนลูกหลงไปด้วย แค่นั่นก็เป็นปัจจัยชั่วคราว

บัฟเฟต เองก็เคยบอกว่า ถ้าทนเห็นหุ้นในพอร์ตตัวเอง ขาดทุนถึง 50% ไม่ได้ ก็ไม่ควรอยู่ในตลาดหุ้น

คุณ โจ-ลูกอีสาน บอกไว้ว่า การขายหุ้นออกไป ในขณะเกิดวิกฤต เป็นการละเมิดศีลที่ร้ายแรงของ VI

การเป็น VI ไม่ได้หมายความว่า ต้องให้หุ้นทุกตัว ขึ้นสีเขียวอยู่เสมอ (อันนี้เป็นกับดักที่มือใหม่ซึ่งตบะไม่แก่กล้าพอ จะรู้สึกหวั่นไหวได้ง่าย) เราแค่ต้องทำให้มั่นใจว่า เมื่อประเมินมูลค่าตามหลักการและเหตุผลที่ถูกต้องแล้ว ต้นทุนในการซื้อหุ้นของเรา ต่ำกว่ามูลค่าเหมาะสมที่ประเมินได้ อย่างมี Margin Of Safty เพียงพอหรือไม่ ( 30% โดยปกติ, แต่ถ้า เบรนด์เขาดี ก็แค่ 20% พอ)

  • ถ้าใช่ ก็คือถือหุ้นไว้ หรือซื้อหุ้นเพิ่ม ถ้า SET จะลงจนหุ้นเราแดง มันจะแดงก็แดงไป เป็นแค่เรื่องชั่วคราว (อาจจะต้องใช้ศรัทธาประกอบเพื่อให้ทนผ่านช่วงเวลาแดงๆแบบนั้นไปได้น่ะ) 
  • ถ้าไม่ใช่ ก็ขายออกไป อย่าเก็บไว้ให้เสี่ยงพอร์ต
(อย่างไรก็ตาม มี VI บางคน ใช้หลักการทาง technical เข้ามาจับจังหวะซื้อขายด้วย เป็นการ optimize ให้ผลลัพธ์ดีขึ้น ก็แล้วแต่คนถนัดครับ เรื่องนี้ยังบางคนก็เห็นด้วยบ้างก็ไม่เห็นด้วย)

ส่งท้ายก็เช่นเคย ที่เขียนไปทั้งหมดนั้นเป็นเพียง ข้อคิดเห็น ของผม ไม่ใช่การชี้นำหรือฟันธงอะไร
การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน เงินของท่าน ท่านรับผิดชอบของท่านเองน่ะครับ