วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

คำถามเกี่ยวกับกองทุนรวม LTF จากมือใหม่แบบสุดๆ (ภาค 2)

ถาม #7 : ทำไมคนหลายคน เลือกจะเล่นหุ้นเอง แทนที่จะลงทุน LTF

ตอบ : หลักๆคือ เพื่อผลตอบแทนที่มากกว่า เพราะโดยสถิติแล้ว ผลตอบแทนของกองทุนรวมนั้น ไม่สามารถเอาชนะค่าเฉลี่ยของตลาดได้ ดังนั้นหากเป้าหมายเราต้องการมากกว่านั้น ก็จำเป็นต้องทำอะไรแตกต่างจากคนส่วนใหญ่
และ กองทุนรวมที่มีเงินมากมายมหาศาลนั้น หลายๆครั้งจะเสียเปรียบนักลงทุนอิสระพอร์ตเล็ก เพราะ
- ด้วยความใหญ่ของมันเอง ทำให้เคลื่อนไหวได้ช้าและส่งผลกระทบต่อตลาดมาก ลงทุนได้เฉพาะกับหุ้นตัวใหญ่มากๆเท่านั้น (ซึ่งค่อนข้างอิ่มตัวกับการเติบโตแล้ว การหวังผลกำไรที่เติบโตมากๆต่อไปนั้นเป็นไปได้ยาก) ทำให้พอร์ตยิ่งขนาดใหญ่เท่าไหร่ ก็ยิ่งทำผลตอบแทนให้สูงได้ยากขึ้น
- มีกฏหมายที่ควบคุมอยู่ การเปลี่ยนนโยบายโดยพลการ ให้ต่างจากที่จดทะเบียนไว้นั้น ทำไม่ได้
- ความคาดหวังจากลูกค้าที่มักจะไม่ได้เข้าใจหลักการลงทุนระยะยาว และตื่นตกใจง่ายจากการผันผวนของตลาด ทำให้ ผจก. ต้องพยายามสู้กับความผันผวน ในขณะเดียวกันต้องพยายามทำกำไรให้สูง และเป็นขาขึ้นให้ได้มากที่สุด

ด้วยเหตุผลที่ว่ามานั้นทำให้กองทุนรวมค่อนข้างจะเหมือนโดนบังคับให้ต้องดำเนินการลงทุนแบบ passive และใช้หลักการทาง technical
... แต่ลองนึกภาพน่ะครับ กองทุนนั้นใหญ่และอุ้ยอ้าย แต่พยายามจะเล่นแบบ technical หรือ trading ซึ่งต้องใช้ความเร็วและคล่องตัว มันเป็นอะไรที่ขัดแย้งกันในตัวเองมาก
และดังนั้น ซึ่งหากเราต้องการจะลงทุนแบบ VI (ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่า) เราต้องทำเอง เพราะไม่มีกองทุนไหนจะทำแบบที่เราต้องการได้

นอกเหนือจากนั้น ก็อาจมีเหตุผลอื่นๆอีกเช่น อยากลอง, อยากศึกษา, อยากรู้สึกว่าได้เป็นเจ้าของธุรกิจจริงๆ และเป็นการลงทุนจริงๆ, อยากกำหนดชะตาชีวิตการลงทุนด้วยตัวเอง เป็นต้น

สำหรับ LTF ยังมีข้อบังคับเรื่องเวลาที่ต้องถือ 5 ปี (ตอนนี้ 7 ปี) ปฏิทิน ด้วย ซึ่งสำหรับหลายๆคนที่รักอิสระ คงไม่รู้สึกถูกชะตากับมันในแง่นี้ อีกกระทง

===========================

ถาม #8 : เงินค่าตอบแทน ที่เป็นผลกำไรจากการลงทุน LTF หรือปันผล เขาจะจ่ายให้เราทุกเวลาเท่าไหร่ คือ ฝากเงินกับกองทุนละ ฝากทุกเดือน ทีนี้ผลตอบแทนที่เขาเอาไปลงทุนแล้วแจ้งเราเนี่ย เขาจะแจ้งเราทุกเดือนรึเปล่า ที่ว่าได้ 8-12% ต่อปีเนี่ย
เพราะว่าเราฝากเงินน่ะ ฝากเข้าไปทุกเดือนเนี่ย ผลตอบแทนเขาจะโชว์เราทุกเดือนเลยรึเปล่า

ตอบ : ฟังดูแล้วท่าทางจะยังไม่เข้าใจเรื่อง นิยามและกลไก ของสิ่งที่เรียกว่า กองทุนรวม คงต้องอธิบายเริ่มต้นใหม่

เวลาเราซื้อ กองทุน เราจ่ายเงินออกไป เราจะได้ "หน่วยลงทุน" ของกองทุนนั้น มาอยู่ในบัญชีของเรา

มอง "หน่วยลงทุน" เป็นสินทรัพย์น่ะครับ แล้วจะไม่งง
เทียบกับทรัพย์สินประเภทอื่นๆ เช่น ทอง, เงิน, น้ำมัน
ราคาของ สินทรัพย์ ตัวนี้ (กองทุนรวม) คือ NAV ซึ่งจะประกาศออกมาวันละครั้ง โดย ผจก. กองทุน (ซึ่งราคานั้น จะคำนวณมาจากมูลค่าสินทรัพย์อ้างอิงที่กองทุนไปลงทุนเอาไว้ ณ วันนั้นๆ) ในบัญชีกองทุนของเรา ในนั้นมีแค่ "หน่วยลงทุน" ที่เราซื้อเอาไว้อยู่

มูลค่าหน่วยลงทุนทั้งหมดที่เรามี = จำนวนหน่วยลงทุนที่เรามี * NAVล่าสุด

ตัวอย่าง ลองเปรียบเทียบกับ ทอง

- เวลาเราซื้อทอง ราคามันก็ขึ้นๆลงๆเป็นวันๆไปเหมือนกัน และถ้าเราอยากได้เงิน ก็ต้องเอาทองไปขายคืน
- หน่วยลงทุน ของกองทุนรวม ก็เหมือนกันเลย คือราคามันก็ขึ้นๆลงๆทุกวัน ถ้าเราอยากได้เป็นเงินกลับมา ก็ต้องเอาหน่วยลงทุนไปขายคืน

ถ้าเราถือไว้เฉยๆ ไม่ขาย และกองทุนก็ไม่ปันผล เราก็จะยังไม่ได้รับเงินกำไร(และขาดทุน) คืนมาครับ
แต่ไม่แนะนำกองทุนปันผล เพราะการปันผลของกองทุน นั้นไม่เหมือนปันผลของหุ้น
มันคือการที่กองทุนนั้น หักทรัพย์สินของตัวเอง ออกมาจ่ายให้เรา ซึ่งก็จะทำให้ค่า NAV ลดลง เป็นจำนวนเท่ากันกับที่เขาหักออกมา

คือ NAVวันก่อนปันผล = NAVวันหลังปันผล + ปันผลที่ได้ต่อหน่วยลงทุน

ดังนั้นการปันผลของกองทุน ไม่มีประโยชน์เท่าไหร่ ต้องมาเสียเวลาหาที่ลงทุนใหม่อีก เราเลือกขายเองเมื่อต้องการจะดีกว่า
เรื่องปันผลนี้ เป็นส่วนสำคัญอันนึงที่กองทุนแตกต่างจากหุ้นตัวจริงๆ

สำหรับกองทุนที่มีปันผล จะปันผลปีละกี่ครั้ง ขึ้นกับนโยบายของกองทุนนั้นๆ ที่ประกาศไว้ในหนังสือชี้ชวนครับ แต่ที่ผมเจอก็มักจะ 2 ครั้งต่อปี แต่ถ้ามันไม่กำไรเลย ตกต่ำมาก ก็อาจจะไม่ปันผลได้ครับ
การปันผลก็จะ โอนเข้าในบัญชีออมทรัพย์ของเรา ที่ผูกไว้กับบัญชีกองทุนฯ ของเราครับ

ปล. แนะนำเรื่องการใช้คำ ให้ใช้คำว่า ซื้อ/ขาย หน่วยลงทุน จะทำให้เข้าใจและไม่งง
หากไปมองแบบ เป็นการ ฝาก/ถอน เงินเข้าบัญชีกองทุน มันทำให้เห็นภาพไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เป็นครับ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณถึงดูงงๆ เหมือนจะไม่เข้าใจ

===========================

ถาม #9 : ถ้าจะยกเลิก LTF แล้วเอาตังออกมา คือพอครบกำหนดแล้วก็ถอนออกมาเลยได้ไหม ต้องทำยังไง

ตอบ : หน่วยลงทุนที่ครบกำหนดแล้ว สั่งขายได้เลย ปกติระบบ online จะมีเมนูแยกต่างหาก สำหรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ คือจะมีหน้าที่บอกว่า LTF ที่ครบกำหนดแล้ว มีตัวไหน และขายได้เท่าไหร่อยู่ครับ, ขายแล้วซัก 2-3 วัน เงินค่าขายหน่วยฯ จะโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ที่เราผูกเอาไว้กับบัญชีกองทุนของเราเอง

===========================

ถาม #10 : จากที่อ่านคำตอบมา กำลังคิดว่า มันจะเป็นดอกเบี้ยทบต้นได้ยังไง
งั้นมันไม่เป็นการเก็งกำไรเหรอ คือฝากไปเรื่อยแล้วรอมันมีราคาสูง แล้วเราค่อยขายรวดเดียวไรงี้เหรอ
หรือเราจะต้องเล่นแล้วขายไปเรื่อย พอได้ % สูงทีนึง ก็ขาย แล้วก็ไปเอาเงินไปลงใหม่ ไม่สิมันซื้อได้แค่ 15% ของรายได้ปีนั้นนิ
แล้วงี้จะต่างไรกับการเก็งกำไรทั่วไป เหมือนซื้อหุ้นตอนหุ้นถูก แล้วขายตอนหุ้นแพง แต่หุ้นมันได้ปันผลนิ

ตอบ : แยกเป็น 2 คำถาม
1. เป็นการเก็งกำไรใช่หรือไม่ : ทั้ง ใช่ และ ไม่ใช่ มันขึ้นกับคนซื้อขายหน่วยลงทุน ว่าจะทำเป็นการเก็งกำไร หรือจะลงทุน
จุดแบ่งระหว่างการ เก็งกำไร กับ ลงทุน ไม่ได้ดูที่เรื่องว่า เราเอากำไรจากส่วนต่างของราคา หรือ เอากำไรจากปันผล แต่ดูจากพฤติกรรมของคนที่เล่น

นักลงทุนนั้นจะมองพื้นฐานของสิ่งที่ลงทุนก่อนและส่วนต่างของราคาเป็นผลพลอยได้(เอาเหมือนกันไม่ใช่ไม่เอา) จิตของนักลงทุน จะเป็นในลักษณะเฝ้าดูสิ่งที่ลงทุนมันเติบโตเหมือนการดูต้นไม้มันโต

ส่วนนักเก็งกำไรนั้น ไม่ค่อยสนใจพื้นฐานของสิ่งที่ลงทุน แต่เน้นการซื้อขายให้ได้กำไรอย่างเดียว อาจจะซื้อขายวันละหลายรอบ (ซึ่งถ้าเป็นกองทุนรวม ทำงี้ไม่ได้อยู่ล่ะ เพราะวันนึงซื้อขายมีผลได้ครั้งเดียว) หรือระยะเวลาถือสั้นมากและตั้งใจเล่นรอบ โดยดูสัญญานจากกราฟ technical และจิตวิทยาการลงทุน ในการชิงไหวชิงพริบกับคนอื่นๆที่อยู่ในตลาด ดังนั้นจิตของนักเก็งกำไรจะเป็นในลักษณะของการแข่งขัน มากกว่า

2. มันเป็นการทบต้นได้ยังไง : ถ้าหน่วยลงทุน มันโตแบบทบต้น เช่น โตปีละ 10% เมื่อเทียบกับ ปีที่แล้ว ทุกๆปี, การถือหน่วยลงทุนของเรา ก็ย่อมเป็นการทบต้นอยู่แล้วโดยไม่ต้องซื้อขายอะไร

หรือถ้ามองเป็นบัญชีเงินฝาก ดอกเบี้ยที่มันจ่ายให้เรา ถ้ามันลงไปรวมกับตัวเงินต้น แล้วถูกนับดอกเบี้ยรอบต่อไปด้วย มันก็เป็นดอกเบี้ยทบต้นแล้ว จะเห็นว่าไม่จำเป็นที่เราต้องถอนดอกเบี้ยนั้นออกมาก่อนแล้วฝากเข้าไปใหม่ มันถึงจะกลายเป็นทบต้นได้ เราแค่ปล่อยไว้เฉยๆมันก็ทบต้นอยู่แล้วครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น