วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แค่เปลี่ยน mindset ชีวิตก็เปลี่ยนได้ทั้งชีวิต

บทความดีๆครับ ปรับ mindset เพื่อพัฒนาตัวเอง
http://www.a-academy.net/blog/growth-vs-fixed-mindset/

การลงทุนไม่มีทางจะประสบความสำเร็จได้ ในคนที่
- ไม่ลงทุนในความรู้ของตัวเอง
- มองเหตุการณ์ไม่ออก วิเคราะห์เหตุการณ์เองไม่ได้
- ตัดสินใจอย่างเหมาะสม ด้วยตัวเองไม่เป็น
- ไม่ลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ

ดังนั้น การลงทุนในตัวเอง ให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอ จึงสำคัญที่สุด
และต้องมีการศึกษายิบย่อย เพิ่มเติมเรื่อยๆ อีกตลอดชีวิต

คนทีี่ด่วนตัดสินว่า ฉันทำนั่นไม่ได้ ฉันทำนี่ไม่ได้ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่ mindset
- หลายคน ยังไม่ได้แม้แต่ลองทำ
- คนที่ลองทำ ก็ยังไม่ได้ลองพยายามให้มากพอ
- หรือ พอมองเห็นว่าต้องพัฒนาอะไรอีกเยอะมาก ก็เกิดอาการ "ขี้เกียจ" จึงเข้าโหมดปิดกั้นการเรียนรู้เอาดื้อๆ แล้วหวังว่าจะมีใครซักคนที่มาช่วยทำสิ่งเหล่านั้นแทน และนำมาป้อนให้ถึงปากแบบฟรีๆ

ลองมองอีกมุมนึง
ถ้าเป็นเรา แล้วไปเจอคนที่มีอาการแบบนั้น โดยเฉพาะข้อสุดท้าย เราจะอยากเข้าไปช่วยเขารึเปล่า ? (ชัวร์ว่าไม่แน่ๆ และผมเกลียดคนแบบนั้นมากด้วย)

ทุกๆคน ต่างก็มีเป้าหมาย มีหน้าที่ ของตัวเอง ในการทำมาหาเลี้ยงชีวิต
เวลาในชีวิตที่เหลืออยู่และผ่านไปทุกวินาที ของทุกคน ล้วนเป็น ต้นทุน แบบนึง และทุกๆคนต่างก็รักและหวงแหนสิ่งนี้
ดังนั้น แม้แต่การจะขอเวลาของคนอื่นแม้เพียงนาที เพื่อให้เขามาทำอะไรซักอย่างให้เรา โดยที่เขาไม่ได้อะไรตอบแทน จึงเป็นสิ่งที่ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย ว่าเขาสะดวกหรือไม่แค่ไหน

การช่วยเหลือเผื่อแผ่ เป็นเรื่องดีครับ แต่เฉพาะเมื่อมันเป็นไปด้วยความสมัครใจ และไม่กระทบกับเป้าหมายชีวิตของตัวผู้ให้เอง
ดังนั้น ถ้าเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็จะทำให้เราเห็นใจ เข้าใจ และพยายามด้วยตัวเองได้มากขึ้น
และไม่คาดหวังจะเอาอะไรๆ จากคนอื่น มากเกินไป
ในขณะเดียวกัน เมื่อเรามีอะไรพอจะช่วยคนอื่นได้ ในระดับที่ไม่ทำให้เราเดือดร้อน หรือกระทบเป้าหมายชีวิตของตัวเอง เราก็จะช่วยคนอื่นได้บ้างด้วย แทนที่จะเป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว
การเป็นผู้ให้บ้าง เราก็จะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองอีกด้วย
(เพราะเป็นการตอบสนอง need ด้านบนสุดของมนุษย์ : ผมแนะนำให้ศึกษาเรื่อง hierarchy of needs pyramid ของ มาสโลว์ ดูครับ มันเป็นกฏธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน)

และจิตของการเป็นผู้ให้บ้าง เป็นสิ่งที่ควรเลี้ยงดูมันให้คงมีอยู่ในใจ ของคนที่ต้องการจะเป็นคนมั่งมี และประสบความสำเร็จทุกคน

เหตุผลก็คือ
คนที่ไม่มีจิตของผู้ให้เลย แม้แต่เรื่องเล็กน้อย นั้นไม่มีทางสำเร็จ หรือรวยได้
ศาสดาสำคัญๆของโลก ต่างยืนยันในเรื่องนี้
และแม้แต่ กูรูการเงินของโลกหลายคน ก็พูดถึงเรื่องนี้ เช่น ลี-กา-ชิง, โรเบิร์ต คิโยซากิ, และหนังสือ how to การสร้างเนื้อสร้างตัวหลายเล่ม ต่างพูดถึงเรื่องนี้

ชีวิตที่เป็นได้ทั้ง ผู้ให้ และ ผู้รับ
นั่นน่าจะเป็นชีวิตแบบที่หลายคนฝันถึงมากกว่า จริงมั้ยครับ :)

ดังนั้น เริ่มเปลี่ยนและปลูกฝัง mindset ดีๆให้ตัวเองกันตั้งแต่วันนี้เลยครับ อย่ารอช้า, อนาคตดีๆรอคุณอยู่

วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ศุกร์ทมิฬที่ผ่านมา กับวันจันทร์ที่กำลังจะมาถึง

ตลอดสัปดาห์ทีี่ผ่านมา โดยเฉพาะ วันศุกร์ 21 ส.ค. 2015 ที่ผ่านมานั้น เกิดเหตุการณ์ที่ชวนขนลุกสำหรับนักลงทุน และโดยเฉพาะนักเก็งกำไรหลายคน เพราะมีเหตุการณ์ร้ายและข่าวร้ายหลายอย่างโผล่มาพร้อมกันคือ
- กรีซ นายกลาออก (เหมือนจะโดนคนในพรรคไล่)
- เกาหลี เหนือ - ใต้ ยิงถล่มกันตรงแนวชายแดน ด้วยปืนใหญ่
- ดาวน์โจนส์ ดิ่งเหว (หลังตลาดไทยปิดไปแล้ว ^^! )
- น้ำมัน ก็ดิ่ง (จะทะลุแนว 40$ ) ล่ะ

ผมเอง ปกติตัดรอบบัญชีเพื่อวัดผลและตรวจสุขภาพทางการเงิน ทุกๆวันที่ 19 ของเดือน เลยได้เห็นว่า NAV ของกองทุนหุ้นนี่มันดิ่งเหวอย่างโหดจริงๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นี่ขนาดยังไม่เจอข่าวร้ายของวันศุกร์ เลยน่ะ

ผมว่าเวลาแบบนี้ เป็นบททดสอบความแข็งแกร่ง และกึ๋นความเป็นนักลงทุนแบบ VI ได้ดี ว่าเราจะทนได้นานแค่ไหน เมื่อเห็นมูลค่าพอร์ตหดตัวลงเรื่อยๆ และค่อนข้างมาก

ถ้าใจยังไม่แกร่งพอ อาจจะทนไม่ได้จนขายตัดขาดทุนออกมา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นักเก็งกำไรจะทำกัน

บัฟเฟต เคยกล่าวไว้ทำนองว่า "หากทนไม่ได้ที่เห็นหุ้นที่ถืออยู่ ราคาตกลงไปกว่า 50% ก็ไม่ควรเข้ามาอยู่ในตลาดหุ้นแต่แรก"
คุณ โจ ลูกอีสาน ก็เคยว่าไว้ว่า "การขายหุ้นตอนที่ตลาดหุ้นตกลงมาอย่างหนัก ถือเป็นการละเมิดศีลที่สำคัญที่สุดของการเป็น VI"

ความหมายคือ VI จะต้องคิดตั้งแต่ตอนซื้อ และกำไรตั้งแต่ตอนซื้อ เพราะเงื่อนไขการซื้อมีเพียงว่า จะซื้อก็ต่อเมื่อ ราคาลงมาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่เหมาะสมของกิจการนั้นๆ เท่านั้น และกิจการต้องถูกวิเคราะห์มาอย่างดี ว่าสามารถทนต่อสภาพเศรษฐกิจแย่ๆในหลายรูปแบบได้ มีผลประกอบการที่สม่ำเสมอในระยะยาวๆ (7 ปีขึ้นไป ตามวิธีของเกรเฮม) มีปันผลที่ดี ผู้บริหารเป็นคนดีและคนเก่ง

และเมื่อซื้อหุ้นด้วยเงื่อนไขนี้ การตกลงของราคาตลาด ทั้งๆที่พื้นฐานกิจการนั้นเอง ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่ได้เป็นเหตุผลที่ควรจะต้องขายแม้แต่น้อย ในทางกลับกัน มันคือโอกาสของการซื้อเพิ่ม (แต่จะรอลงสุดก่อนก็ได้น่ะ ผมคิดว่าน่าจะยังไม่สุด หรือใช้วิธีทยอยหลายๆไม้ ยาวซัก 1 ปีเพื่อลดความเสี่ยงก็เป็นกลยุทธ์ที่ดีครับ)

และนี่ก็เป็นการวัดความเข้าใจและพลังใจที่ดี ว่าเราเองนั้นเป็น VI ได้มากน้อยแค่ไหนแล้ว

;
สำหรับกองทุนรวมหุ้นต่างๆ  นั้น ผมคิดว่า เหมาะกับกลยุทธ์การลงทุนแบบ passive (คือทำ Dollar Cost Average) มากกว่าจะไปเล่นแบบอื่น เพราะจะไปประเมินมูลค่าแบบที่ทำกับหุ้นจริงๆก็ไม่ได้หรือค่อนข้างยาก หรือจะเล่นเทคนิคก็ไม่ได้เพราะการตอบสนองต่อคำสั่งซื้อขายของเรานั้น ช้าเกินกว่าจะทำจังหวะได้ทันการตามระบบที่วางไว้

แต่การลงทุนแบบนี้มีข้อดีคือ ค่อนข้างมีความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะ ถ้ากองทุนหุ้นเป็นกองดัชนีตัวใหญ่อันดับต้นๆของตลาด มันค่อนข้างมั่นใจได้ว่ากองทุนล้มยากและโอกาสมูลค่าเหลือ 0 นั้นแทบเป็นไปไม่ได้ ผมนึกไม่ออกเลยว่า SET50 หรือ SET100 นั้น บริษัททั้งหมดในนั้นจะเจ๊งพร้อมกันได้ยังไง
และวิธีนี้ยังเป็นวิธีที่ บัฟเฟตฯ แนะนำ สำหรับคนที่อยากลงทุนหุ้นแต่ไม่มีความรู้ใดๆเลย การทำ DCA ในกองทุนหุ้นดัชนี ก็เป็นทางเลือกทีี่ดี มีข้อแม้นิดหน่อยว่าตอนออกตัวเริ่มแรก ไม่ควรออกตัวทำ DCA ตอนที่ตลาดทั้งตลาดแพงมากๆ (ลองดู P/E เฉลี่ยย้อนหลังของตลาดซัก 10 ปี ก็เป็นเกณอ้างอิงที่ดี) แม้ว่าการเริ่มตอนตลาดแพงมันจะทำได้ แต่มันจะเหนื่อยกว่าและอาจต้องทนเห็นพอร์ตขาดทุนระยะยาวนาน (อาจหลายปี) กว่ามาก
และเช่นเดียวกัน หากตัดสินใจใช้วิธีนี้แล้ว คุณต้องรักษาวินัยในการทำ DCA อย่างเคร่งครัดต่อให้ตลาดตกลงมาต่ำมากๆ ก็ยังคงแข็งใจถัว DCA ต่อไป

สำหรับวันจันทร์ที่จะมาถึงนี้ ผมก็คิดว่า
คงต้องพยายาม วางใจ วางทัศนคติให้ถูกต้อง และนึกถึงหลักการให้ดีๆแม่นๆ อย่าไขว้เขว
แล้วระยะยาว น่าจะดีเอง
ขอให้โชคดี รักษาสุขภาพกายสุขภาพใจให้แข็งแรงทุกคนนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การทำบัญชีส่วนบุคคล จุดเริ่มต้นของทุกความมั่งคั่ง

หัวข้อเรื่องนี้มันเกร่อมาก กลัวว่าเล่าไปก็เหมือนเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน แต่จะละเลยก็ไม่ได้ เพราะมันสำคัญจริงๆ

เราทุกคนแน่นอนว่าต้องเคยเรียนวิธีทำบัญชีรายรับรายจ่ายกันมาแล้ว จากวิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียน เป็นการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งนั่นถือเป็นข่าวดีอย่างนึง

แต่ข่าวร้ายคือ น้อยคนที่เอาไปใช้ในชีวิตจริงของตัวเอง
และถ้าตั้งเป้าจะเป็นคนรวยให้ได้แล้ว คุณจะพบอีกด้วยว่า ลำพังบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างเดียวนั้น ยังไม่เพียงพอจะเอาไปใช้กับ เทคนิคการบริหารเงินเพื่อความมั่งคั่งต่างๆ ได้มากนัก คุณจำเป็นต้อง พัฒนาต่อยอดระบบบัญชีของคุณ ไปสู่ระดับสูงยิ่งกว่านั้น

ตัวอย่างเช่น

ถ้าเราตั้งเป้าออมเงินไปลงทุนให้ได้เดือนล่ะ 20% ของรายรับ โดยต้องหักไปออมทันที เหลือเท่าไหร่จึงเอาไปใช้จ่าย ตามสูตรที่หลายแห่งสอนกัน แต่ทันทีที่คิดจะทำ ความ "กังวล" ก็จะผุดขึ้นมาต่างๆ เช่น
- ออมขนาดนั้น แล้วจะเหลือพอใช้เหรอ ปกติก่อนเงินเดือนออกทีไรก็แกลบตลอด
- ถ้า 20% ไม่เหมาะกับเรา (อาจจะมากไป หรือ น้อยไป) แล้วเท่าไหร่ถึงจะเหมาะ

เพื่อจะข้ามปัญหานี้ไปได้และประยุกต์หลักการบริหารเงินข้างต้นได้สำเร็จ สิ่งที่เราต้องรู้ก่อนคือ 1). รายจ่ายประจำที่ จำเป็นจริงๆของเรา มีอะไรบ้าง 2). รายจ่ายประจำเหล่านั้น หักลบกับรายได้แล้ว เหลืออยู่กี่บาท โดยเฉลี่ย ( แนะนำว่าควรดูย้อนหลังซัก 6 เดือน จะได้ตัวเลขที่เหมาะกับความเป็นจริงของตัวเรา)

จะเห็นได้ว่า เป็นไปไม่ได้เลย ที่จะตอบคำถามพวกนี้ ถ้าเราไม่ทำบัญชีส่วนบุคคลของเราอย่างถูกต้อง และย้อนหลังเป็นเวลานานเพียงพอ

อีกตัวอย่างนึง

เราได้ยินหลักการบริหารทรัพย์สิน ที่เรียกว่า asset allocation มา คือ การจัดแจงประเภทของทรัพย์สินประเภทต่างๆ ให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมอยู่เสมอตามแผนที่วางไว้ จะสามารถนำความั่งคั่งมาให้เราได้ (เช่น เงินสด 10%, ฝากประจำ 20%, หุ้น 50%, กองทุนตราสารหนี้ 20% .. เลขพวกนี้ผมสมมุติขึ้นมา แต่ละคนอาจวางแผนไม่เหมือนกันก็ได้)

คำถามที่จะเกิดขึ้นมาทันทีเลยคือ 1). ตอนนี้พอร์ตของเรา มีความมั่งคั่งอยู่เท่าไหร่ 2). สัดส่วนเป็นแบบไหน เหมือนหรือต่างจากแผนไปแค่ไหน

หากเราไม่ได้ทำบัญชีส่วนบุคคลมาก่อน ซึ่งในตัวอย่างนี้เป็นส่วนของ งบดุล (เริ่มเป็นอะไรที่ล้ำไปกว่าบัญชีรายรับรายจ่ายแล้วน่ะครับ) เราจะตอบคำถามเหล่านั้นไม่ได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้น การนำเทคนิคข้างต้นไปประยุกต์ใช้จริง ก็เกิดขึ้นไม่ได้ด้วย
;
;
;
สรุปอย่างสั้นที่สุดของบทนี้คือ

เราจะบริหารการเงินของตัวเองได้ยังไง ถ้าไม่รู้เรื่องการเงินของตัวเองเลย?
การทำบัญชีเท่านั้น ที่ทำให้รู้ว่าการเงินของตัวเองเป็นยังไง แล้วนั่นจะทำให้เราสามารถบริหารเงิน และความมั่งคั่งของเราได้

สิ่งนี้เป็น must คือ "ต้องทำ" เพราะมันเป็นรากฐาน เป็น platform ของทุกๆสิ่งที่จะนำไปสู่ความมั่งคั่งของเรา

ดังนั้น หากใครยังไม่ทำ ผมแนะนำว่าควรเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เอาแค่แบบบัญชีรายรับจ่ายแบบเบสิก ที่เคยเรียนมากันก่อนก็ได้
แล้วลองศึกษาเพิ่มเติมจากเว็บที่สอนเรื่องนี้ เช่น http://www.a-academy.net/s02-personal-fin-statement/
(แต่บัญชีผมเองก็ไม่ทำเยอะถึงกับเป็นงบการเงินน่ะ เพราะรู้สึกเยอะไป :P เอาแค่เฉพาะที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ เช่น รายรับรายจ่าย, งบดุล, และกองงบประมาณด้านต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนั้นจะมีการตัดรอบบัญชีอยู่ 2 แบบคือ รายเดือน กับ รายปี และทุกการตัดรอบบัญชี จะมีการประเมินผลตัวผมเองว่า ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นลดลงอย่างไร เราบริหารดีแค่ไหน รายจ่ายแต่ละประเภทเป็นยังไง ราวๆนี้)

และเมื่อคุณได้ลองทำๆบัญชีไปซักระยะ คุณจะอยากเติมนู่นเติมนี่ พัฒนามันขึ้นไปเรื่อยๆ ตามโจทย์ทางการเงินใหม่ๆที่มันเข้ามาในชีวิตคุณเอง

ซึ่งเครื่องมือที่ช่วยในการทำบัญชีนั้น ผมแนะนำพวก Microsoft Excel สำหรับงานนี้
หรือโปรแกรม spreadsheet อื่นๆ ที่คล้ายกัน อย่างพวก Open office calc ก็ได้

คุณจำเป็น ที่จะต้องมีทักษะการใช้โปรแกรม spreadsheet ในการช่วยทำบัญชีเหล่านี้ มันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าแน่นอน พวกนักลงทุนต้นแบบที่เราเห็นๆกันตามทีวี ผมไม่เชื่อว่าจะมีคนไหนที่ยังทำบัญชีด้วยกระดาษอยู่ มันยุ่งยากมากและไม่ทันกินเอาซะเลย

สำหรับทักษะการใช้โปรแกรมพวกนี้ เราสามารถหาศึกษาได้จาก google หรือใน youtube ถ้าลองหาด้วยคำว่า "excel tutorial" ก็มีหลายคลิปที่สามารถศึกษาได้ทันที
โปรแกรม spreadsheet อื่นๆที่มีในตลาดตอนนี้ ส่วนใหญ่ วิธีใช้งานก็ถอดแบบมาจาก excel กันทั้งนั้น คุณสามารถศึกษา excel แต่ไปใช้โปรแกรมตัวอื่นก็ได้เช่นกันครับ

=============
พูดคุยกันท้ายตอน

ทีแรกผมคิดว่า จะไล่เรียงเนื้อหาในการอัพ blog ไปเรื่อยๆ แบบเรื่องต่อเรื่องต่อยอดไปตามลำดับ
แต่ดูท่าทางแล้ว กว่าจะไปถึงส่วนที่คนอยากจะอ่านจริงๆ พวกการลงทุนหุ้นต่างๆ ท่าทางจะนาน ก็ไม่รู้ว่าจะอัพแบบกระโดดไปมา ไม่เรียงลำดับ จะงงรึเปล่าน่ะ
บางครั้งก็อาจจะเห็นผมอัพอะไรที่มันเป็นไอเดียที่ผุดขึ้นมากับเหตุการณ์ช่วงนั้นๆแทน เป็นการเบรกออกจากโหมดวิชาการบ้าง หรือถ้าอยากรู้เรื่องไหนเป็นพิเศษก็ถามกันเข้ามาได้ครับ

วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การลงทุน คืออะไร ทำไมต้องลงทุน

หลายครั้ง เรามีบางสิ่งที่อยากจะทำ หรือมีความจำเป็นต้องไปทำ แต่พอคิดจะไปทำมันทีไร ก็พบว่า มันต้องไปทำ ณ เวลาทำงาน working hour ของเราเท่านั้น หรือไม่ก็ต้องล้มเลิกมันไปด้วยเหตุผลว่า ไม่มีเงิน และไม่มีเวลา
มันเป็นอะไรที่น่าหงุดหงิดมากๆ

"ถ้าเรารวย และมีเวลาว่างมากๆ ก็คงดี" ผมคิดอย่างงั้น (และหลายๆคนก็คงคิดเหมือนกัน)

ผมพยายามหาทางว่า ทำยังไงจะรวยและมีเวลาว่างเยอะๆ ได้ จนไปได้แนวคิดสำคัญที่เป็นตัวจุดประกาย จากหนังสือตระกูล พ่อรวยสอนลูก (เขียนโดย โรเบิร์ต คิโยซากิ) ซึ่งเป็นเหมือนจุดเริ่มต้น ให้ผมได้เริ่มพยายามหาความรู้เรื่อง การเงิน และ การลงทุน

ซึ่งพอมองออกไปดูว่า คนรวยๆระดับประเทศหรือระดับโลก เขาทำอะไรกันถึงได้รวย มันก็สอดคล้องไปในทางเดียวกันคือ ถ้าไม่ใช่ด้วยการสร้างธุรกิจ ก็ต้องด้วยโลกแห่งการลงทุน
พอผมมองสำรวจตัวเองแล้ว ก็คิดว่าไปทางการลงทุนน่าจะดีกว่า
แล้วผมก็ได้เข้าสู่โลกของการลงทุน นับแต่นั้น

การลงทุนคืออะไร ?

ตามความเข้าใจผมเองนั้น การลงทุน คือ การจ่าย/ให้ บางอย่างออกไป โดยคาดหวังประโยชน์ในอนาคตที่จะได้รับกลับมา ทั้งทางตรง และทางอ้อม, โดยสิ่งที่(อาจ)จะได้กลับมานั้นก็เป็น "ทุน" (ซึ่งควรมากกว่าทุนตั้งต้น) ที่สามารถนำไปใช้สอย หรือต่อยอดไปได้อีก

บางคนอาจสงสัยว่า มันคือการแลกเปลี่ยนอะไรซักอย่างกลับมา เหมือนการซื้อขายทั่วๆไปงั้นรึเปล่า?
ตอบว่า มันมีทั้งส่วนที่เหมือนและไม่เหมือน เพราะบางครั้งการลงทุนสิ่งที่ได้กลับมาเป็นนามธรรม แต่เอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้ก็มีเหมือนกัน และโดยปกติแล้วการลงทุนนั้น สิ่งที่ได้กลับมาต้องไม่ใช่สิ่งที่ใช้แล้วหมดไป ซึ่งถ้าไปแลกอะไรซักอย่างกลับมาแล้วเป็นสิ่งที่เราเอามาใช้แล้วมันก็จะหมดไปนั้น มันจะเป็นการ บริโภค ไม่ใช่การลงทุน

และการลงทุนนั้น มักจะมี “ความเสี่ยง” แถมมาให้ด้วยเสมอ อย่างที่เห็นในคำนิยามข้างต้น ความเสี่ยงมันซ่อนอยู่ในวงเล็บที่แทรกอยู่นั่นแหละครับ
ความเสี่ยงนั้นคือ เราลงทุนไปนั้น ท้ายที่สุดอาจจะได้คืนมา มากกว่าเดิม, เท่าๆเดิม, น้อยกว่าเดิม หรือแม้แต่มันหายไปซะดื้อๆก็เป็นไปได้กับการลงทุนบางอย่าง ... แน่นอนว่าเราควรจะมุ่งหวังให้มันมากกว่าเดิมดีกว่าน่ะ ซึ่งเดี๋ยวจะศึกษากันในบทต่อๆไปว่าแล้วทำไงจะทำให้เรามีโอกาสได้ มากกว่าเสีย

แล้วถ้าไม่มีเงิน จะลงทุนได้รึเปล่า?
คำตอบคือ ได้ครับ
เพราะนิยามของคำว่า “ทุน” นั้น ไม่ใช่แค่ตัวเงินหรือทรัพย์สินมีค่าเท่านั้น ความหมายมันกว้างกว่านั้นมาก คือ
ทุน - หมายถึง สิ่งใดๆที่เรามีอยู่ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งเราสามารถใช้(หรือจ่าย) มันเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่างได้
ตัวอย่างของ ทุน คือ เงิน, แรงงาน, ความรู้, ทักษะ, เวลาว่าง(ที่ยังไม่ได้จัดสรรงานอะไรลงไป), สุขภาพ, สิ่งของ, เครื่องมือ, สิทธิ์, ฯลฯ

มีเพจของคุณ Tactschool ได้ทำการ์ตูนอธิบายเรื่อง ทุน นี้ไว้ให้เข้าใจง่ายๆและครบถ้วนอยู่ ผมแนะนำให้ลองอ่านดู จะช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆได้มากครับ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.742152012547166.1073741860.341438109285227&type=3

แต่ผมก็ยอมรับว่า ถ้าเราพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆถึงจุดนึง จุดที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ มันคือจุดที่เรามีเงินเหลือเก็บมากพอ พอที่จะเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินได้ จุดนี้แหละเป็นระดับ เกือบ ท้ายสุดของการลงทุนล่ะ แล้วผมจะโฟกัสเนื้อหาตรงนี้เป็นหลัก เพราะส่วนใหญ่จะข้าม level นี้กันได้ยาก เพราะมีเรื่องต้องศึกษาทฤษฎี ฝึกปรือภาคปฏิบัติ กันค่อนข้างเยอะและใช้เวลานาน ซึ่งถ้าไม่มีคู่มือหรือคนแนะนำดีๆ มันจะยิ่งเสียเวลานานขึ้นไปอีก

ถึงคำถามสำคัญคือ แล้วทำไมต้องลงทุนด้วยล่ะ?

เหตุผลอาจจะสรุปได้ดังนี้
1. เพื่อรักษาหรือเพิ่มพูนสิ่งที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมา
สิ่งที่เรียกว่าทุน หากเก็บไว้เฉยๆ มักจะเสื่อมค่าลงไป - เช่น เงินสดก็มีมูลค่าลดลงเรื่อยจากเงินเฟ้อ, ทรัพย์สินก็เก่าและชำรุดพังไป, ร่างกายก็เสื่อมลงไปเรื่อย, ความรู้ก็หลงลืมไปได้ เป็นต้น
โดยเฉพาะผลจาก "เงินเฟ้อ" นี่ค่อนข้างร้ายกาจ แม้คุณจะเห็นตัวเลขเงินเฟ้อโดยปกติเฉลี่ยแถวๆ 3-4% (ไม่นับช่วงวิกฤติเงินฝืดน่ะ เช่นปัจจุบันนี้) แต่สิ่งที่หลายคนลืมนึกถึงคือ เงินเฟ้อเอง ก็จัดเป็น ดอกเบี้ยทบต้น ประเภทนึงน่ะ แต่เป็นทางด้านตรงข้ามกับการลงทุน และอะไรก็ตามที่เป็นลักษณะดอกเบี้ยทบต้น เมื่อคูณเวลาที่ผ่านไปเรื่อยซักระยะนึง ผลลัพธ์มันน่ากลัวเสมอ เราจึงต้องหาทางสร้าง ดอกเบี้ยทบต้น ในทางบวก เอาไปสู้กับมัน

2. เพื่อความมั่นคง และอิสระ ในชีวิต
โดยการได้มาซึ่ง อิสระภาพทางการเงิน (financial freedom) นั่นเอง ซึ่งจะมีประโยชน์มากมาย ตัวอย่างเช่น
- ได้เวลากลับคืนมาวันล่ะ 8 ชม. และ ไม่ต้องพะวงคิดเรื่องการหาเงิน แต่เอาเวลาไปคิดทำอะไรสร้างสรรค์ให้ชีวิตดีกว่า (ความฝันอะไรที่เคยปล่อยให้มันหลุดมือไปจากการเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน จะได้กู้กลับมาก็คราวนี้แหละครับ)
- สำหรับคนวัยเกษียณแล้ว ก็จะไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายว่าจะเอาอะไรกินอยู่ดี ตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ แถมต้องมีค่ารักษาพยาบาลตามมาอีกมาก ณ วัยนั้น

บางคนอาจคิดว่า ก็ให้ลูกหลานเลี้ยงก็ได้ คืออย่าคิดงั้นครับ เชยมาก และเมื่อถึงเวลานั้น เขาจะรู้สึกแย่กับตัวเองด้วยที่ตัวเองเป็นภาระมากกว่าจะช่วยอะไรลูกหลานได้ (เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากจะได้รับการยอมรับนับถือ ทั้งจากคนอื่น และนับถือตัวเองด้วย) และโลกยุคอนาคตยิ่งไกลออกไป ผมเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจโลกทั้งหมด จะมีความเข้มงวดและตึงมือมากขึ้นสำหรับทุกคน ตามจำนวนประชากรโลกที่มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นลูกหลานท่านแค่เอาตัวให้รอดได้ก็คงหืดขึ้นคอ เราควรเตรียมพร้อมสำหรับตัวเองดีกว่า คือเราควรมี "แผนสำรอง" สำหรับชีวิตอยู่เสมอครับ แล้วชีวิตที่เหลืออยู่จะได้มีความสงบสุขในชีวิต เอาเวลาไปทำอะไรที่อยากทำ ดีกว่าครับ


ถึงตรงนี้ เราก็รู้แล้วว่า การลงทุนคืออะไร และเหตุผลว่าทำไมต้องลงทุน
บทถัดไปน่าจะได้เริ่มลงเนื้อหาจริงๆกันซักทีครับ :)