หัวข้อเรื่องนี้มันเกร่อมาก กลัวว่าเล่าไปก็เหมือนเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน แต่จะละเลยก็ไม่ได้ เพราะมันสำคัญจริงๆ
เราทุกคนแน่นอนว่าต้องเคยเรียนวิธีทำบัญชีรายรับรายจ่ายกันมาแล้ว จากวิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียน เป็นการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งนั่นถือเป็นข่าวดีอย่างนึง
แต่ข่าวร้ายคือ น้อยคนที่เอาไปใช้ในชีวิตจริงของตัวเอง
และถ้าตั้งเป้าจะเป็นคนรวยให้ได้แล้ว คุณจะพบอีกด้วยว่า ลำพังบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างเดียวนั้น ยังไม่เพียงพอจะเอาไปใช้กับ เทคนิคการบริหารเงินเพื่อความมั่งคั่งต่างๆ ได้มากนัก คุณจำเป็นต้อง พัฒนาต่อยอดระบบบัญชีของคุณ ไปสู่ระดับสูงยิ่งกว่านั้น
ตัวอย่างเช่น
ถ้าเราตั้งเป้าออมเงินไปลงทุนให้ได้เดือนล่ะ 20% ของรายรับ โดยต้องหักไปออมทันที เหลือเท่าไหร่จึงเอาไปใช้จ่าย ตามสูตรที่หลายแห่งสอนกัน แต่ทันทีที่คิดจะทำ ความ "กังวล" ก็จะผุดขึ้นมาต่างๆ เช่น
- ออมขนาดนั้น แล้วจะเหลือพอใช้เหรอ ปกติก่อนเงินเดือนออกทีไรก็แกลบตลอด
- ถ้า 20% ไม่เหมาะกับเรา (อาจจะมากไป หรือ น้อยไป) แล้วเท่าไหร่ถึงจะเหมาะ
เพื่อจะข้ามปัญหานี้ไปได้และประยุกต์หลักการบริหารเงินข้างต้นได้สำเร็จ สิ่งที่เราต้องรู้ก่อนคือ 1). รายจ่ายประจำที่ จำเป็นจริงๆของเรา มีอะไรบ้าง 2). รายจ่ายประจำเหล่านั้น หักลบกับรายได้แล้ว เหลืออยู่กี่บาท โดยเฉลี่ย ( แนะนำว่าควรดูย้อนหลังซัก 6 เดือน จะได้ตัวเลขที่เหมาะกับความเป็นจริงของตัวเรา)
จะเห็นได้ว่า เป็นไปไม่ได้เลย ที่จะตอบคำถามพวกนี้ ถ้าเราไม่ทำบัญชีส่วนบุคคลของเราอย่างถูกต้อง และย้อนหลังเป็นเวลานานเพียงพอ
อีกตัวอย่างนึง
เราได้ยินหลักการบริหารทรัพย์สิน ที่เรียกว่า asset allocation มา คือ การจัดแจงประเภทของทรัพย์สินประเภทต่างๆ ให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมอยู่เสมอตามแผนที่วางไว้ จะสามารถนำความั่งคั่งมาให้เราได้ (เช่น เงินสด 10%, ฝากประจำ 20%, หุ้น 50%, กองทุนตราสารหนี้ 20% .. เลขพวกนี้ผมสมมุติขึ้นมา แต่ละคนอาจวางแผนไม่เหมือนกันก็ได้)
คำถามที่จะเกิดขึ้นมาทันทีเลยคือ 1). ตอนนี้พอร์ตของเรา มีความมั่งคั่งอยู่เท่าไหร่ 2). สัดส่วนเป็นแบบไหน เหมือนหรือต่างจากแผนไปแค่ไหน
หากเราไม่ได้ทำบัญชีส่วนบุคคลมาก่อน ซึ่งในตัวอย่างนี้เป็นส่วนของ งบดุล (เริ่มเป็นอะไรที่ล้ำไปกว่าบัญชีรายรับรายจ่ายแล้วน่ะครับ) เราจะตอบคำถามเหล่านั้นไม่ได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้น การนำเทคนิคข้างต้นไปประยุกต์ใช้จริง ก็เกิดขึ้นไม่ได้ด้วย
;
;
;
สรุปอย่างสั้นที่สุดของบทนี้คือ
เราจะบริหารการเงินของตัวเองได้ยังไง ถ้าไม่รู้เรื่องการเงินของตัวเองเลย?
การทำบัญชีเท่านั้น ที่ทำให้รู้ว่าการเงินของตัวเองเป็นยังไง แล้วนั่นจะทำให้เราสามารถบริหารเงิน และความมั่งคั่งของเราได้
สิ่งนี้เป็น must คือ "ต้องทำ" เพราะมันเป็นรากฐาน เป็น platform ของทุกๆสิ่งที่จะนำไปสู่ความมั่งคั่งของเรา
ดังนั้น หากใครยังไม่ทำ ผมแนะนำว่าควรเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เอาแค่แบบบัญชีรายรับจ่ายแบบเบสิก ที่เคยเรียนมากันก่อนก็ได้
แล้วลองศึกษาเพิ่มเติมจากเว็บที่สอนเรื่องนี้ เช่น http://www.a-academy.net/s02-personal-fin-statement/
(แต่บัญชีผมเองก็ไม่ทำเยอะถึงกับเป็นงบการเงินน่ะ เพราะรู้สึกเยอะไป :P เอาแค่เฉพาะที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ เช่น รายรับรายจ่าย, งบดุล, และกองงบประมาณด้านต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนั้นจะมีการตัดรอบบัญชีอยู่ 2 แบบคือ รายเดือน กับ รายปี และทุกการตัดรอบบัญชี จะมีการประเมินผลตัวผมเองว่า ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นลดลงอย่างไร เราบริหารดีแค่ไหน รายจ่ายแต่ละประเภทเป็นยังไง ราวๆนี้)
และเมื่อคุณได้ลองทำๆบัญชีไปซักระยะ คุณจะอยากเติมนู่นเติมนี่ พัฒนามันขึ้นไปเรื่อยๆ ตามโจทย์ทางการเงินใหม่ๆที่มันเข้ามาในชีวิตคุณเอง
ซึ่งเครื่องมือที่ช่วยในการทำบัญชีนั้น ผมแนะนำพวก Microsoft Excel สำหรับงานนี้
หรือโปรแกรม spreadsheet อื่นๆ ที่คล้ายกัน อย่างพวก Open office calc ก็ได้
คุณจำเป็น ที่จะต้องมีทักษะการใช้โปรแกรม spreadsheet ในการช่วยทำบัญชีเหล่านี้ มันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าแน่นอน พวกนักลงทุนต้นแบบที่เราเห็นๆกันตามทีวี ผมไม่เชื่อว่าจะมีคนไหนที่ยังทำบัญชีด้วยกระดาษอยู่ มันยุ่งยากมากและไม่ทันกินเอาซะเลย
สำหรับทักษะการใช้โปรแกรมพวกนี้ เราสามารถหาศึกษาได้จาก google หรือใน youtube ถ้าลองหาด้วยคำว่า "excel tutorial" ก็มีหลายคลิปที่สามารถศึกษาได้ทันที
โปรแกรม spreadsheet อื่นๆที่มีในตลาดตอนนี้ ส่วนใหญ่ วิธีใช้งานก็ถอดแบบมาจาก excel กันทั้งนั้น คุณสามารถศึกษา excel แต่ไปใช้โปรแกรมตัวอื่นก็ได้เช่นกันครับ
=============
พูดคุยกันท้ายตอน
ทีแรกผมคิดว่า จะไล่เรียงเนื้อหาในการอัพ blog ไปเรื่อยๆ แบบเรื่องต่อเรื่องต่อยอดไปตามลำดับ
แต่ดูท่าทางแล้ว กว่าจะไปถึงส่วนที่คนอยากจะอ่านจริงๆ พวกการลงทุนหุ้นต่างๆ ท่าทางจะนาน ก็ไม่รู้ว่าจะอัพแบบกระโดดไปมา ไม่เรียงลำดับ จะงงรึเปล่าน่ะ
บางครั้งก็อาจจะเห็นผมอัพอะไรที่มันเป็นไอเดียที่ผุดขึ้นมากับเหตุการณ์ช่วงนั้นๆแทน เป็นการเบรกออกจากโหมดวิชาการบ้าง หรือถ้าอยากรู้เรื่องไหนเป็นพิเศษก็ถามกันเข้ามาได้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น