ตลอดสัปดาห์ทีี่ผ่านมา โดยเฉพาะ วันศุกร์ 21 ส.ค. 2015 ที่ผ่านมานั้น เกิดเหตุการณ์ที่ชวนขนลุกสำหรับนักลงทุน และโดยเฉพาะนักเก็งกำไรหลายคน เพราะมีเหตุการณ์ร้ายและข่าวร้ายหลายอย่างโผล่มาพร้อมกันคือ
- กรีซ นายกลาออก (เหมือนจะโดนคนในพรรคไล่)
- เกาหลี เหนือ - ใต้ ยิงถล่มกันตรงแนวชายแดน ด้วยปืนใหญ่
- ดาวน์โจนส์ ดิ่งเหว (หลังตลาดไทยปิดไปแล้ว ^^! )
- น้ำมัน ก็ดิ่ง (จะทะลุแนว 40$ ) ล่ะ
ผมเอง ปกติตัดรอบบัญชีเพื่อวัดผลและตรวจสุขภาพทางการเงิน ทุกๆวันที่ 19 ของเดือน เลยได้เห็นว่า NAV ของกองทุนหุ้นนี่มันดิ่งเหวอย่างโหดจริงๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นี่ขนาดยังไม่เจอข่าวร้ายของวันศุกร์ เลยน่ะ
ผมว่าเวลาแบบนี้ เป็นบททดสอบความแข็งแกร่ง และกึ๋นความเป็นนักลงทุนแบบ VI ได้ดี ว่าเราจะทนได้นานแค่ไหน เมื่อเห็นมูลค่าพอร์ตหดตัวลงเรื่อยๆ และค่อนข้างมาก
ถ้าใจยังไม่แกร่งพอ อาจจะทนไม่ได้จนขายตัดขาดทุนออกมา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นักเก็งกำไรจะทำกัน
บัฟเฟต เคยกล่าวไว้ทำนองว่า "หากทนไม่ได้ที่เห็นหุ้นที่ถืออยู่ ราคาตกลงไปกว่า 50% ก็ไม่ควรเข้ามาอยู่ในตลาดหุ้นแต่แรก"
คุณ โจ ลูกอีสาน ก็เคยว่าไว้ว่า "การขายหุ้นตอนที่ตลาดหุ้นตกลงมาอย่างหนัก ถือเป็นการละเมิดศีลที่สำคัญที่สุดของการเป็น VI"
ความหมายคือ VI จะต้องคิดตั้งแต่ตอนซื้อ และกำไรตั้งแต่ตอนซื้อ เพราะเงื่อนไขการซื้อมีเพียงว่า จะซื้อก็ต่อเมื่อ ราคาลงมาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่เหมาะสมของกิจการนั้นๆ เท่านั้น และกิจการต้องถูกวิเคราะห์มาอย่างดี ว่าสามารถทนต่อสภาพเศรษฐกิจแย่ๆในหลายรูปแบบได้ มีผลประกอบการที่สม่ำเสมอในระยะยาวๆ (7 ปีขึ้นไป ตามวิธีของเกรเฮม) มีปันผลที่ดี ผู้บริหารเป็นคนดีและคนเก่ง
และเมื่อซื้อหุ้นด้วยเงื่อนไขนี้ การตกลงของราคาตลาด ทั้งๆที่พื้นฐานกิจการนั้นเอง ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่ได้เป็นเหตุผลที่ควรจะต้องขายแม้แต่น้อย ในทางกลับกัน มันคือโอกาสของการซื้อเพิ่ม (แต่จะรอลงสุดก่อนก็ได้น่ะ ผมคิดว่าน่าจะยังไม่สุด หรือใช้วิธีทยอยหลายๆไม้ ยาวซัก 1 ปีเพื่อลดความเสี่ยงก็เป็นกลยุทธ์ที่ดีครับ)
และนี่ก็เป็นการวัดความเข้าใจและพลังใจที่ดี ว่าเราเองนั้นเป็น VI ได้มากน้อยแค่ไหนแล้ว
;
สำหรับกองทุนรวมหุ้นต่างๆ นั้น ผมคิดว่า เหมาะกับกลยุทธ์การลงทุนแบบ passive (คือทำ Dollar Cost Average) มากกว่าจะไปเล่นแบบอื่น เพราะจะไปประเมินมูลค่าแบบที่ทำกับหุ้นจริงๆก็ไม่ได้หรือค่อนข้างยาก หรือจะเล่นเทคนิคก็ไม่ได้เพราะการตอบสนองต่อคำสั่งซื้อขายของเรานั้น ช้าเกินกว่าจะทำจังหวะได้ทันการตามระบบที่วางไว้
แต่การลงทุนแบบนี้มีข้อดีคือ ค่อนข้างมีความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะ ถ้ากองทุนหุ้นเป็นกองดัชนีตัวใหญ่อันดับต้นๆของตลาด มันค่อนข้างมั่นใจได้ว่ากองทุนล้มยากและโอกาสมูลค่าเหลือ 0 นั้นแทบเป็นไปไม่ได้ ผมนึกไม่ออกเลยว่า SET50 หรือ SET100 นั้น บริษัททั้งหมดในนั้นจะเจ๊งพร้อมกันได้ยังไง
และวิธีนี้ยังเป็นวิธีที่ บัฟเฟตฯ แนะนำ สำหรับคนที่อยากลงทุนหุ้นแต่ไม่มีความรู้ใดๆเลย การทำ DCA ในกองทุนหุ้นดัชนี ก็เป็นทางเลือกทีี่ดี มีข้อแม้นิดหน่อยว่าตอนออกตัวเริ่มแรก ไม่ควรออกตัวทำ DCA ตอนที่ตลาดทั้งตลาดแพงมากๆ (ลองดู P/E เฉลี่ยย้อนหลังของตลาดซัก 10 ปี ก็เป็นเกณอ้างอิงที่ดี) แม้ว่าการเริ่มตอนตลาดแพงมันจะทำได้ แต่มันจะเหนื่อยกว่าและอาจต้องทนเห็นพอร์ตขาดทุนระยะยาวนาน (อาจหลายปี) กว่ามาก
และเช่นเดียวกัน หากตัดสินใจใช้วิธีนี้แล้ว คุณต้องรักษาวินัยในการทำ DCA อย่างเคร่งครัดต่อให้ตลาดตกลงมาต่ำมากๆ ก็ยังคงแข็งใจถัว DCA ต่อไป
สำหรับวันจันทร์ที่จะมาถึงนี้ ผมก็คิดว่า
คงต้องพยายาม วางใจ วางทัศนคติให้ถูกต้อง และนึกถึงหลักการให้ดีๆแม่นๆ อย่าไขว้เขว
แล้วระยะยาว น่าจะดีเอง
ขอให้โชคดี รักษาสุขภาพกายสุขภาพใจให้แข็งแรงทุกคนนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น