วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การลงทุน คืออะไร ทำไมต้องลงทุน

หลายครั้ง เรามีบางสิ่งที่อยากจะทำ หรือมีความจำเป็นต้องไปทำ แต่พอคิดจะไปทำมันทีไร ก็พบว่า มันต้องไปทำ ณ เวลาทำงาน working hour ของเราเท่านั้น หรือไม่ก็ต้องล้มเลิกมันไปด้วยเหตุผลว่า ไม่มีเงิน และไม่มีเวลา
มันเป็นอะไรที่น่าหงุดหงิดมากๆ

"ถ้าเรารวย และมีเวลาว่างมากๆ ก็คงดี" ผมคิดอย่างงั้น (และหลายๆคนก็คงคิดเหมือนกัน)

ผมพยายามหาทางว่า ทำยังไงจะรวยและมีเวลาว่างเยอะๆ ได้ จนไปได้แนวคิดสำคัญที่เป็นตัวจุดประกาย จากหนังสือตระกูล พ่อรวยสอนลูก (เขียนโดย โรเบิร์ต คิโยซากิ) ซึ่งเป็นเหมือนจุดเริ่มต้น ให้ผมได้เริ่มพยายามหาความรู้เรื่อง การเงิน และ การลงทุน

ซึ่งพอมองออกไปดูว่า คนรวยๆระดับประเทศหรือระดับโลก เขาทำอะไรกันถึงได้รวย มันก็สอดคล้องไปในทางเดียวกันคือ ถ้าไม่ใช่ด้วยการสร้างธุรกิจ ก็ต้องด้วยโลกแห่งการลงทุน
พอผมมองสำรวจตัวเองแล้ว ก็คิดว่าไปทางการลงทุนน่าจะดีกว่า
แล้วผมก็ได้เข้าสู่โลกของการลงทุน นับแต่นั้น

การลงทุนคืออะไร ?

ตามความเข้าใจผมเองนั้น การลงทุน คือ การจ่าย/ให้ บางอย่างออกไป โดยคาดหวังประโยชน์ในอนาคตที่จะได้รับกลับมา ทั้งทางตรง และทางอ้อม, โดยสิ่งที่(อาจ)จะได้กลับมานั้นก็เป็น "ทุน" (ซึ่งควรมากกว่าทุนตั้งต้น) ที่สามารถนำไปใช้สอย หรือต่อยอดไปได้อีก

บางคนอาจสงสัยว่า มันคือการแลกเปลี่ยนอะไรซักอย่างกลับมา เหมือนการซื้อขายทั่วๆไปงั้นรึเปล่า?
ตอบว่า มันมีทั้งส่วนที่เหมือนและไม่เหมือน เพราะบางครั้งการลงทุนสิ่งที่ได้กลับมาเป็นนามธรรม แต่เอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้ก็มีเหมือนกัน และโดยปกติแล้วการลงทุนนั้น สิ่งที่ได้กลับมาต้องไม่ใช่สิ่งที่ใช้แล้วหมดไป ซึ่งถ้าไปแลกอะไรซักอย่างกลับมาแล้วเป็นสิ่งที่เราเอามาใช้แล้วมันก็จะหมดไปนั้น มันจะเป็นการ บริโภค ไม่ใช่การลงทุน

และการลงทุนนั้น มักจะมี “ความเสี่ยง” แถมมาให้ด้วยเสมอ อย่างที่เห็นในคำนิยามข้างต้น ความเสี่ยงมันซ่อนอยู่ในวงเล็บที่แทรกอยู่นั่นแหละครับ
ความเสี่ยงนั้นคือ เราลงทุนไปนั้น ท้ายที่สุดอาจจะได้คืนมา มากกว่าเดิม, เท่าๆเดิม, น้อยกว่าเดิม หรือแม้แต่มันหายไปซะดื้อๆก็เป็นไปได้กับการลงทุนบางอย่าง ... แน่นอนว่าเราควรจะมุ่งหวังให้มันมากกว่าเดิมดีกว่าน่ะ ซึ่งเดี๋ยวจะศึกษากันในบทต่อๆไปว่าแล้วทำไงจะทำให้เรามีโอกาสได้ มากกว่าเสีย

แล้วถ้าไม่มีเงิน จะลงทุนได้รึเปล่า?
คำตอบคือ ได้ครับ
เพราะนิยามของคำว่า “ทุน” นั้น ไม่ใช่แค่ตัวเงินหรือทรัพย์สินมีค่าเท่านั้น ความหมายมันกว้างกว่านั้นมาก คือ
ทุน - หมายถึง สิ่งใดๆที่เรามีอยู่ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งเราสามารถใช้(หรือจ่าย) มันเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่างได้
ตัวอย่างของ ทุน คือ เงิน, แรงงาน, ความรู้, ทักษะ, เวลาว่าง(ที่ยังไม่ได้จัดสรรงานอะไรลงไป), สุขภาพ, สิ่งของ, เครื่องมือ, สิทธิ์, ฯลฯ

มีเพจของคุณ Tactschool ได้ทำการ์ตูนอธิบายเรื่อง ทุน นี้ไว้ให้เข้าใจง่ายๆและครบถ้วนอยู่ ผมแนะนำให้ลองอ่านดู จะช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆได้มากครับ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.742152012547166.1073741860.341438109285227&type=3

แต่ผมก็ยอมรับว่า ถ้าเราพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆถึงจุดนึง จุดที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ มันคือจุดที่เรามีเงินเหลือเก็บมากพอ พอที่จะเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินได้ จุดนี้แหละเป็นระดับ เกือบ ท้ายสุดของการลงทุนล่ะ แล้วผมจะโฟกัสเนื้อหาตรงนี้เป็นหลัก เพราะส่วนใหญ่จะข้าม level นี้กันได้ยาก เพราะมีเรื่องต้องศึกษาทฤษฎี ฝึกปรือภาคปฏิบัติ กันค่อนข้างเยอะและใช้เวลานาน ซึ่งถ้าไม่มีคู่มือหรือคนแนะนำดีๆ มันจะยิ่งเสียเวลานานขึ้นไปอีก

ถึงคำถามสำคัญคือ แล้วทำไมต้องลงทุนด้วยล่ะ?

เหตุผลอาจจะสรุปได้ดังนี้
1. เพื่อรักษาหรือเพิ่มพูนสิ่งที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมา
สิ่งที่เรียกว่าทุน หากเก็บไว้เฉยๆ มักจะเสื่อมค่าลงไป - เช่น เงินสดก็มีมูลค่าลดลงเรื่อยจากเงินเฟ้อ, ทรัพย์สินก็เก่าและชำรุดพังไป, ร่างกายก็เสื่อมลงไปเรื่อย, ความรู้ก็หลงลืมไปได้ เป็นต้น
โดยเฉพาะผลจาก "เงินเฟ้อ" นี่ค่อนข้างร้ายกาจ แม้คุณจะเห็นตัวเลขเงินเฟ้อโดยปกติเฉลี่ยแถวๆ 3-4% (ไม่นับช่วงวิกฤติเงินฝืดน่ะ เช่นปัจจุบันนี้) แต่สิ่งที่หลายคนลืมนึกถึงคือ เงินเฟ้อเอง ก็จัดเป็น ดอกเบี้ยทบต้น ประเภทนึงน่ะ แต่เป็นทางด้านตรงข้ามกับการลงทุน และอะไรก็ตามที่เป็นลักษณะดอกเบี้ยทบต้น เมื่อคูณเวลาที่ผ่านไปเรื่อยซักระยะนึง ผลลัพธ์มันน่ากลัวเสมอ เราจึงต้องหาทางสร้าง ดอกเบี้ยทบต้น ในทางบวก เอาไปสู้กับมัน

2. เพื่อความมั่นคง และอิสระ ในชีวิต
โดยการได้มาซึ่ง อิสระภาพทางการเงิน (financial freedom) นั่นเอง ซึ่งจะมีประโยชน์มากมาย ตัวอย่างเช่น
- ได้เวลากลับคืนมาวันล่ะ 8 ชม. และ ไม่ต้องพะวงคิดเรื่องการหาเงิน แต่เอาเวลาไปคิดทำอะไรสร้างสรรค์ให้ชีวิตดีกว่า (ความฝันอะไรที่เคยปล่อยให้มันหลุดมือไปจากการเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน จะได้กู้กลับมาก็คราวนี้แหละครับ)
- สำหรับคนวัยเกษียณแล้ว ก็จะไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายว่าจะเอาอะไรกินอยู่ดี ตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ แถมต้องมีค่ารักษาพยาบาลตามมาอีกมาก ณ วัยนั้น

บางคนอาจคิดว่า ก็ให้ลูกหลานเลี้ยงก็ได้ คืออย่าคิดงั้นครับ เชยมาก และเมื่อถึงเวลานั้น เขาจะรู้สึกแย่กับตัวเองด้วยที่ตัวเองเป็นภาระมากกว่าจะช่วยอะไรลูกหลานได้ (เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากจะได้รับการยอมรับนับถือ ทั้งจากคนอื่น และนับถือตัวเองด้วย) และโลกยุคอนาคตยิ่งไกลออกไป ผมเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจโลกทั้งหมด จะมีความเข้มงวดและตึงมือมากขึ้นสำหรับทุกคน ตามจำนวนประชากรโลกที่มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นลูกหลานท่านแค่เอาตัวให้รอดได้ก็คงหืดขึ้นคอ เราควรเตรียมพร้อมสำหรับตัวเองดีกว่า คือเราควรมี "แผนสำรอง" สำหรับชีวิตอยู่เสมอครับ แล้วชีวิตที่เหลืออยู่จะได้มีความสงบสุขในชีวิต เอาเวลาไปทำอะไรที่อยากทำ ดีกว่าครับ


ถึงตรงนี้ เราก็รู้แล้วว่า การลงทุนคืออะไร และเหตุผลว่าทำไมต้องลงทุน
บทถัดไปน่าจะได้เริ่มลงเนื้อหาจริงๆกันซักทีครับ :)

1 ความคิดเห็น: