วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สิ้นปีแบบนี้ก็ต้องว่าด้วยวิธีเลือกกองทุน LTF (กองทุนรวมแบบอื่นๆก็ใช้ได้น่ะ)


ทีแรกว่าจะไม่โพสต์เรื่องนี้ล่ะเพราะว่าผมไม่คิดจะเล่น LTF แล้ว หลังจากระยะเวลาการถือ LTF โดนขยายออกไปเป็น 7 ปีปฏิทิน (หรือถ้านับเวลาจริงๆ ซื้อสิ้นปีขายต้นปี ก็จะต้องถือยาว 5 ปีนิดๆ)

แต่เห็นคนพูดถึงมากเลยเอาซักหน่อย

ผมจะแนะนำวิธีเลือก LTF ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ผมใช้เลือกกองทุนรวมหุ้นทั่วๆไปเวลาจะลงทุนอะไรซักอย่าง ใช้หลักการเดียวกันได้หมด (จริงๆเอาไปใช้กับกองทุนรวมแบบอื่นๆได้ด้วย แต่ต้องปรับเงื่อนไขอะไรนิดๆหน่อย)

ผมขี้เกียจทำรูป ขออธิบาย concept คร่าวๆเลยล่ะกันครับ

สิ่งที่คุณต้องรู้ก่อนจะอ่านต่อไปคือ คุณต้องมีทักษะการใช้ Excel ที่เก่งพอตัวอยู่แล้ว (เอากลางๆที่ใช้ทำบัญชีกันก็พอ ไม่ต้องถึงกับเขียน VB macro)

ถ้ายังไม่มีทักษะ Excel ก็ควรไปศึกษาก่อนจะอ่านต่อไปครับ ไม่งั้นไม่น่าจะรู้เรื่อง ^^!
และถึงจะศึกษาไม่ทันใช้ซื้อ LTF ปีนี้ แต่มันก็เป็นทักษะที่จะได้ใช้ยาวๆต่อไปแน่นอนในโลกการบริหารเงินส่วนบุคคลของคุณเองครับ มีประโยชน์มากมาย

เริ่มกันเลย

วิธีแสกนกองทุนรวม version 1

เวลามองหากองทุน ผมก็ยังใช้หลักตะแกรงร่อนหุ้นอยู่ แต่จะดัดแปลงนิดหน่อยตามชนิดของข้อมูลที่จะเอามาใช้งาน
ผมหาข้อมูลกองทุนรวมจากเว็บ siamchart เป็นหลัก สำหรับ LTF ก็เปิดไปหน้านี้เลยครับ http://siamchart.com/fund-compare/LTF

จากนั้นผมจะก๊อปข้อมูลมาใส่ใน Excel ผม แล้วก็จะ
1. ตัดกองทุนที่ไม่มีข้อมูลยาวถึง 5 ปี ออกไปเลย
2. ตัด column ของผลตอบแทนที่ระยะเวลาสั้นกว่า 1 Month ออกไปด้วย เพราะคิดว่าไม่น่ามีประโยชน์อะไรระยะเวลามันสั้นไป (เราก็จะเหลือ column ผลตอบแทนของ 1M, 3M, 6M, 1Y, 3Y, 5Y เท่านั้น)
3. เอากองทุนที่เหลืออยู่ ไปเปิดตารางใหม่ โดยเพิ่ม column ไป 6 column ใช้ชื่อแนวๆประมาณว่า Win 1M, Win 3M, Win 6M, .... , Win 5Y (บางคนอาจรู้วิธีล่ะ ใครยังไม่รู้ก็อ่านต่อ)
4. เลือกตารางทั้งหมดของเรา แล้วเปิด auto filter
5. Sort ข้อมูล 5Y จาก Z-A แล้วไปมาร์คเครื่องหมายอะไรซักอย่าง (ในที่นี้ผมใช้ Y) ใน column "Win 5Y" สำหรับกองทุน 30 - 40 percentile แรก (หมายถึง สมมุติมีกองทุน 10 ตัว ก็เลือกมา 3 ตัวแรก หรือ 4 ตัวแรก, ถ้ามีกองทุน 50 ตัว ก็เลือกมา 15 หรือ 20 ตัวแรก)
6. ทำ step 5 ซ้ำ กับทุก column จนครบ 6 column
7. กองทุนที่ดีเกินกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมากของกองทุน LTF ที่อยู่ในตลาด คือกองทุนที่เข้าเงื่อนไขตามนี้ครับ
7.1 column "Win 1Y", "Win 3Y", "Win 5Y"  มีเครื่องหมาย Y แปะไว้อยู่ทั้งหมด
7.2 column ที่มี Y แปะอยู่นับเป็น 1 คะแนนของกองทุนนั้น ดังนั้นคะแนนจะมีได้ตั้งแต่ 0 ถึง 6, กองไหนคะแนนเยอะกว่าก็มีแนวโน้มจะดีกว่า (เมื่อผ่านเงื่อนไข 7.1 มาแล้วเท่านั้นน่ะ)

วิธีแสกนกองทุนรวม version 2

ก็ไม่มีอะไรมาก มันคือ version 1 แต่ผมจะเพิ่ม 3 column สำหรับ filter นับคะแนน "ความไม่ขาดทุน" เข้าไปตาม concept ประมาณว่า
- ผลตอบแทนไม่ลดลงต่อกันหลายครั้ง (ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปก็นับหมด, เช่น 5Y -> 3Y -> 1Y ขาดทุนไหม, 3Y -> 1Y -> 6M ขาดทุนไหม, ฯลฯ)
- ผลตอบแทนย้อนหลังไม่ขาดทุนเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ( มองย้อนไปทุกช่วง 1M, 3M, 6M, 1Y, 3Y, 5Y)
- การเปลี่ยนผ่านแบบช่วงต่อช่วง (เช่น 5Y -> 3Y ขาดทุนไหม, 3Y -> 1Y ขาดทุนไหม, ฯลฯ)

ทุก column จะมีคะแนนเริ่มต้น 6 แล้วจะโดนลดคะแนนลงทีละ 1 เมื่อมีเงื่อนไขขาดทุนเกิดขึ้น 1 ครั้งในหัวข้อนั้นๆ

กองไหนมีคะแนน "ความไม่ขาดทุน" นี้มากกว่า ก็มีแววว่าจะดีกว่า

Finally หลังจากสแกนด้วยวิธีข้างต้นแล้ว ต้องทำสิ่งนี้ด้วย

ไปหาข้อมูลกองทุนนั้นๆเพิ่มเติมซ้ำอีกทีครับ ว่าเป็นกองทุนนโยบายการลงทุนแบบไหน และดูกราฟย้อนหลังเต็มๆ ย้อนหลังไปซัก 10 ปี หรือตั้งแต่กองทุนเปิด (search google แล้วดูผลของบนเว็บ https://www.wealthmagik.com ก็ได้) สิ่งที่ต้องดูคือ
- นโยบายการลงทุน
- ค่าทำเนียมการบริหารกองทุน (ควรต่ำๆครับ ตัวไหนต่ำกว่าก็น่าสนใจกว่า)
- ทรงกราฟสวย มีความผันผวนน้อยกว่า ก็มีแววว่าจะดีกว่า

;
ซึ่งหลังจากผมใช้วิธีข้างต้นพวกนั้นไปแล้ว กองทุนที่เหลือรอดมาได้ก็คือ ....
น่าเสียดายผมคงบอกไม่ได้
ไม่ได้กั๊ก แต่ไม่อยากเสี่ยงในประเด็นเรื่องกฏหมาย =_= เพราะไม่มีใบอนุญาติในการให้คำแนะนำการลงทุนอ่ะครับ บอกตรงๆไม่ได้หรอก
แต่เอาเป็นว่า ผมก็ใช้วิธีที่ว่าไปข้างบนนั้นแหละเลือก แชร์หมดเปลือกล่ะ
ถ้าใช้วิธีเดียวกัน ผลลัพธ์ก็จะคล้ายๆกันครับ

ไว้พบกันใหม่ตอนหน้าครับ

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Gotcha!! จับฝันให้อยู่หมัด ต้องจับมันก่อนอาหารมื้อเช้า!! (time management)



คุณเหนื่อยไหม กับการพยายามประยุกต์ใช้เทคนิค การบริหารเวลา ที่สอนกันทั่วไป แต่พยายามเท่าไหร่ก็ทำมันไม่ได้ตามทฤษฏีซักที
ทั้งหลัก 4 quadrant, pomodoro, time boxing, ฯลฯ

ไม่นานมานี้ผมเพิ่งฟังหนังสือเสียงเรื่อง What the Most Successful People Do Before Breakfast

ผมพบว่าเป็นหลักการที่เวิร์คมากสุดๆ
มันสามารถทำให้ทฤษฎีบริหารเวลาอื่นๆ ที่ว่าไป ซึ่งเราพยายามประยุกต์ใช้มานานแต่ไม่ค่อยสำเร็จเพราะการควบคุมวินัยและความสม่ำเสมอนั้นยากมาก แต่เทคนิคนี้จะทำให้อำนาจการควบคุมเวลาของเรา กลับมาอยู่ในร่องในรอยและเกิดประสิทธิผลได้อย่างที่ควรจะเป็น
และที่เจ๋งกว่านั้นคือ เราจะบริหารเวลาของเราได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรมากมาย แต่ทุกอย่างจะเป็นไปโดยอัติโนมัติ
นอกจากนั้นยังทำให้ตลอดทั้งวันเรารู้สึกปลอดโปร่ง มีสมาธิดี พลอยทำให้ ประสิทธิภาพการทำงานทั้งวันดีขึ้นอีกด้วย

ฟังดูเว่อร์เกินจริง
ก่อนที่ผมจะลองใช้วิธีนี้สำเร็จก็เคยคิดแบบนั้นเหมือนกันครับ แต่พอลองแล้วก็รู้สึกว่ามันใช่เลย

หลักการนี้โดยสรุปย่อๆ คือ
งานที่สำคัญกับเป้าหมายชีวิตเราจริงๆ ควรจัดสรรเวลาเอาไว้ทำเป็นงานแรกของวัน ซึ่งเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือ ช่วงเวลาก่อนอาหารเช้า
คือเราเลือกจะ ตื่นเช้าขึ้นกว่าเดิม (แน่นอนว่าต้องนอนเร็วขึ้น) เพื่อให้มีเวลาเพิ่มขึ้นซักชั่วโมงหรือสองชั่วโมง ก่อนจะถึงเวลาอาหารเช้า แล้วเอาเวลานั้นไปทำงานที่สำคัญก่อนเป็นอย่างแรกของวันนั้นๆ

ฟังดูธรรมดามาก แต่กลับเป็นเรื่องทำยากของคนสมัยนี้
วิถีชีวิตคนสมัยนี้นั้น ชอบนอนดึกตื่นสายมากกว่า ทำให้เรื่องนี้มีน้อยคนนักที่จะได้ลองทำและเห็นผลของมันจริงๆ

เหตุผลที่วิธีนี้นั้น ได้ผลดีมาก โดยที่เราแทบไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรมากมาย นอกจากการเปลี่ยนเวลาตอนและเวลาตื่นนอนในแต่ละวันเท่านั้น อธิบายโดยสรุปตามที่ผมเข้าใจคือ

1. เราตื่นเช้ามาล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ จนถึงกินข้าวนั้น เราไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็นภาระอะไรเลย เพราะเราทำให้มัน กิจวัตรที่ต้องทำทุกวัน ดังนั้น เราจะพยายามทำให้งานที่สำคัญที่เราต้องการจัดเวลามาทำมัน ให้กลายเป็นกิจวัตรประจำวันให้ได้เหมือนกัน

2. เราจะไม่โดนสิ่ง รบกวน หรือ ขัดจังหวะ จากปัจจัยภายนอก ในช่วงเวลานั้นเลย เป็นเรื่องยากมากที่จะโดนรบกวนจากคนอื่น ในเวลาที่คนส่วนใหญ่ในโลก (รวมถึงเพื่อนร่วมงานประจำของเรา) ล้วนยังนอนไม่ตื่นกัน หรือกำลังสาละวนกับกิจวัตรตอนเช้าของตัวเองเพราะต้องรีบออกไปทำงานประจำ นอกจากนั้นโดยมรรยาทแล้ว การจะโทรไปหาใครเรื่องงาน ตั้งแต่เวลาที่เขายังไม่ตื่นหรือกินข้าวไม่เสร็จนั้น เป็นเรื่องเสียมารยาทมาก และปกติคงไม่มีใครทำกันถ้าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายจริงๆ
(ถ้าสังเกตดู ในช่วงเวลากลางวันนั้น โดยเฉพาะในที่ทำงาน เรามีโอกาสโดนคนอื่นขัดจังหวะการทำงานของเราได้ตลอดเวลา)

3. เราได้การพักผ่อนสมองมาทั้งคืนแล้ว มันเป็นเวลาที่เราสมองมีพลังเต็มเปี่ยมมากที่สุดและมีข้อมูลอื่นๆที่กวนใจกวนสมาธิเราน้อยที่สุด ในทางตรงข้าม หากเราจะเอางานเพื่อเป้าหมายชีวิตเราไปทำตอนท้ายๆของวัน หลังจากเลิกงานประจำแล้ว จะพบว่าเรา เหนื่อยล้าเกินไป ทั้งกายใจ จนประสิทธิภาพการทำงานเราต่ำมาก อยากจะพักผ่อนหรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายมากกว่าจะมาทำเรื่องซีเรียสอื่นๆมากไปกว่านี้แล้ว

4. เราจะได้รับความรู้สึก "สำเร็จ" ชิ้นเล็กๆเป็นรางวัล ก่อนจะออกไปเริ่มงานอื่นๆนอกบ้านของเราช่วงกลางวัน ซึ่งความรู้สึกนี้เป็นพลังทางจิตใจที่สำคัญ มันจะทำให้เราทำงานชิ้นต่อไปโดยสดชื่นและกระฉับกระเฉงมากขึ้นเพราะเรายังอยู่ในมู้ดของความสำเร็จอยู่ และเมื่องานชิ้นต่อไปนั้นทำเสร็จตามเป้าไปได้ดีอีก มันก็จะทำให้งานถัดจากนั้นล้วนเสร็จดีขึ้นด้วย ... กลายเป็นว่ามันส่งผลเป็นโดมิโน ตั้งแต่ต้นจนจบวัน ทำให้เรารู้สึกว่าวันนั้นเป็นวันที่เราทำอะไรก็ดีไปหมด

5. เรารู้สึกดีกับตัวเองได้มากว่า ที่ได้ทำงานเพื่อเป้าหมายชีวิตจริงๆของเราในแต่ละวันก่อนงานอื่น ทำให้เรารู้สึกได้ว่า เป้าหมายเรามีความคืบหน้าในทุกๆวัน และไม่โดนแย่ง "เวลา" ไปโดยงานที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อเป้าหมายของเรา แต่จำเป็นต้องทำ(โดยเฉพาะเพื่อการเลี้ยงชีพ) เรื่องนี้เป็นหลักการเดียวกันกับ หลักการออมเงินที่ว่า "ได้เงินเดือนมา ต้องออมก่อน เหลือเท่าไหร่ค่อยเอาไปใช้จ่าย" ในที่นี้เปลี่ยนจาก "เงินเดือน" เป็น "เวลาในแต่ละวัน" แทนเท่านั้น คือ เราต้องจ่าย "เวลา" ไปกับสิ่งที่สำคัญกับเราที่สุดก่อน เหลือค่อยไปใช้มันกับสิ่งสำคัญรองๆลงมา หากใครเคยสำเร็จในการประยุกต์ใช้หลักการออมเงินแบบที่ว่าไปมาแล้ว เขาจะเข้าใจเลยว่ามันต่างกันกับการ "เอาเงินเดือนไปใช้ก่อน เหลือแล้วค่อยออม" มากแค่ไหน

สังเกตน่ะครับ ผมพูดเหมือนกับว่า งาน"สำคัญ" กับงาน "จำเป็น" แยกออกจากกัน ไม่ใช้ความหมายทับซ้อนกัน
งาน"สำคัญ" คือวัดจากเป้าหมายชีวิตและความรู้สึกทางอารมณ์ของเรา
แต่งาน "จำเป็น" นั้น ไม่ว่าจะอยากทำหรือไม่ ก็ต้องทำเพื่อให้อยู่รอดไปในปัจจุบันก่อน
งาน "สำคัญ" ถูกผลักดันด้วยอารมณ์ความ อยาก เข้าไปใกล้กับสิ่งที่เราชอบ
งาน "จำเป็น" ถูกผลัดดันด้วยอารมณ์ ไม่อยาก จะเจอสิ่งแย่ๆที่จะตามมาหากไม่ทำงานนั้น
เรื่องนี้ถ้าจะอธิบายละเอียดมันยาว เอาแค่นิยามให้เข้าใจหัวข้อปัจจุบันก่อนก็พอ ว่ามันเกี่ยวยังไงกับเทคนิคการบริหารเวลา "ก่อนอาหารเช้า" ของเรา

ลองดูน่ะครับ คุณน่าจะทึ่งกับผลลัพธ์ของมันอย่างที่ผมเคยทึ่งกับมันมาก่อน ;)

===============
พูดคุยกันท้ายตอน

ต้องขออภัยผู้ที่ติดตามบล๊อกนี้ (น่าจะมีน่ะ 55) ด้วย ที่ผมหายไปนานเป็นเดือนๆ เพราะมีอะไรยุ่งๆกับเรื่องทางบ้านแทรกเข้ามาในเดือน ก.ค. ที่เพิ่งผ่านไป
ตอนนี้เรื่องยุ่งๆก็ผ่านไปแล้ว หลังจากนี้คงจะพอทยอยอัพบทความได้บ้าง
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ลองทำรูป cover แปะหัวบทความด้วย หวังว่าคงจะชอบกันน่ะครับ

เรื่องการบริหารเวลา แม้จะฟังดูไม่เกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งเป็นธีมหลักของที่นี่ แต่จริงๆแล้วนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ ล้วนเป็นนักบริหารเวลา (อีกนัยนึง คือนักลงทุนเวลา) ชั้นยอดครับ เพราะการบริหารเวลาเป็นพื้นฐานของความสำเร็จในทุกๆเรื่อง แน่นอนเป็นประโยชน์กับเป้าหมายด้านการเงินการลงทุนด้วย ดังนั้นจึงเป็นที่มาของบทความตอนนี้ครับ ;)

ตอนนี้ blog ผมยังจัดระเบียบบทความด้วยการแปะ tag อยู่ แต่กำลังงมๆเหมือนกันว่ามันจัดหมวดหมู่แบบอื่นที่สะดวกและเป็นระเบียบกว่านี้ได้รึเปล่า ใครมีข้อเสนอแนะก็ยินดีรับฟังเสมอครับ จะนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น :)

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ความในใจ ถึงผู้ที่ติดตามรอบทความตอนต่อไปอยู่ และแผนปรับปรุงวิธีจัดเก็บบทความใหม่

สำหรับผู้ที่รอติดตามบทความตอนต่อไป ในชุด "แนวคิดเกี่ยวกับมูลค่าของหุ้น"
จริงๆผมร่างบทความตอนต่อไปไว้เสร็จแล้ว (กับบทความแนวอื่นอีกประมาณ 2 อัน)
แต่กำลังอยู่ในช่วงพิจารณา ปรับโครงสร้างการโพสต์บทความหน่อย
เพราะได้รับ feedback มาว่า อันล่าสุดที่อ่านไป มันดู ยากไปหน่อย ถ้าคนไม่มีพื้นมาก่อนจะอ่านไม่รู้เรื่อง

ประกอบกับ ผมสังเกตว่า สไตล์การโพสต์ที่ผ่านมาของผมนั้น ถ้าบทความเยอะมากกว่านี้ หากจะไปค้นหาบทความที่ต้องการ จะเริ่มหายากแล้ว เพราะไม่ได้มีการจัดหมวดหมู่ให้เข้าถึงง่ายๆ
จึงคิดว่าจะมีการ ปรับโครงสร้าง กันซักหน่อย เพื่อให้การค้นหาบทความที่ต้องการนั้น ง่ายขึ้น
คนไม่มีพื้นมาก่อน ก็ไปหาบทความสำหรับมือใหม่ที่ต้องการได้ง่ายขึ้น
คนที่มีพื้นมาแล้ว ก็ไปหาบทความส่วนตัวที่ตนสนใจได้ง่ายขึ้น

ก็ต้องขออภัยสำหรับคนที่ติดตามอยู่ด้วยครับ จะพยายามทำการปรับปรุงให้เสร็จในเร็วๆนี้
ช่วงนี้ผมติดเรื่องทางบ้านยุ่งๆด้วย หากพ้นช่วงนี้ไป (ซักเดือน ส.ค.) น่าจะมีอะไรดีขึ้นครับ

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เล่นหุ้น VI (อาจจะ) ปลอดภัยกว่าซื้อกองทุน passive

ผมเพิ่งตระหนักว่า การเลือกหุ้นด้วยตัวเอง ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินและปัจจัยพื้นฐานนั้น เราสามารถ เข้าใจธุรกิจของมัน ได้ง่ายกว่าการพยายามเข้าใจเศรษฐกิจภาพรวมของทั้งประเทศ หรือของโลก มากๆ

และอะไรที่เราเข้าใจมันได้มากกว่า ย่อมมีความเสี่ยงต่ำกว่า สิ่งที่เราเข้าใจมันได้น้อย
จึงเกิดความคิดว่า บางที การเล่นหุ้นแบบ vi นั้นอาจจะปลอดภัยกว่าซื้อกองทุนแบบ passive ก็เป็นได้

แม้ว่ากูรูด้านการลงทุนของโลกอย่าง บัฟเฟตฯ หรือเทรนการเรียนการสอนของสถาบันการด้านการเงิน (ซึ่งหลักๆเป็นสาย passive investment) จะบอกว่าการ DCA กองทุนหุ้นดัชนี เป็นสิ่งที่ดีและปลอดภัยสำหรับ คนทั่วไปที่ไม่มีความรู้และเวลาในการลงทุนมากนัก ก็ตาม

แต่การ DCA กองทุนหุ้นดัชนี ก็มีข้อควรระวัง ที่อาจเป็นกับดักสำหรับนักลงทุนได้เหมือนกัน (ไม่เชื่อลองไปดูดัชนีย้อนหลังของตลาดญี่ปุ่น เป็นอุทาหรณ์)

เหตุผลก็คือ DCA จะได้ผลดี ถ้า
- ตลาดค่อนข้างเป็นตลาดที่พัฒนาแล้ว หรือที่เรียกว่าตลาดมีประสิทธิภาพ
- *ประเทศนั้นเศรษฐกิจเติบโตดี ในระยะยาว และ
- *เราเริ่ม DCA ณ ตอนที่ดัชนีของตลาดโดยรวมนั้น ราคาไม่แพง

เงื่อนไขที่ดูจะ ตรวจสอบหรือยืนยันผลได้ยาก ในโลกความเป็นจริงนั้นคือ สองข้อหลัง

การประเมินหุ้นตัวนึงๆว่ายากแล้ว การประเมินภาพรวมของทั้งดัชนี หรือประเทศนั้น ยิ่งเป็นเรื่องยากกว่า ทั้งในแง่มุมของเทรนการเติบโต และความถูกแพง

เพราะแทนที่เราจะมี งบการเงิน และโมเดลธุรกิจแต่ละตัวให้พิจารณา เราต้องมาดูภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศซึ่งประกอบกันขึ้นมาจากธุรกิจหลากหลายรูปแบบ

ซึ่งต่อให้มืออาชีพอย่างนักวิเคราะห์ หรือแบงก์ชาติ ก็ยังคาดการณ์อนาคตแบบนี้ถูกบ้างผิดบ้าง ยิ่งถ้ามองระยะยาวก็ยิ่งใกล้เคียงกับการเดาเข้าไปอีก (เราถึงได้ยินข่าว นักวิเคราะห์ หรือ แบงก์ชาติ ออกมาปรับประมาณการเรื่องเศรษฐกิจกันบ่อยๆ ตลอดทั้งปี)

ผมเองเคยคิดว่าเรื่องนี้น่าจะง่ายอย่างการเอาเทรนด์ของ GDP ย้อนหลังหลายๆปีมาพิจารณา แต่ก็พบว่า ความเกี่ยวข้องกันของ GDP กับ ดัชนีตลาดหุ้น นั้นต่ำมาก คือเราไม่สามารถใช้สถิติของ GDP ย้อนหลัง มาคาดการณ์ดัชนีของตลาดหุ้นได้ว่ามันจะขึ้นหรือลง
(มีคนพยายามอธิบายเหตุผลนี้ไว้ที่นี่ http://www.forbes.com/sites/jerrybowyer/2013/04/21/does-gdp-growth-predict-the-direction-of-stocks/#10bdf1e54f13 )

นอกจากนั้น ปัจจัยที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้มีแต่การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆเพียงอย่างเดียว มาถึงยุคนี้ ปัจจัยจาก ต่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของ fund flow ก็เริ่มมีผลอย่างมากกับตลาดการลงทุนแบบต่างๆ
แล้วไอ้การเคลื่อนไหวของ fund flow ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผลมาจาก นโยบายที่เปลี่ยนไปของแบงก์ชาติประเทศใหญ่ๆ เช่น US, EU, จีน ฯลฯ คือพอพวกนี้ออกข่าวที ก็มีผลกระทบโดยทันที ไปทีนึง จากประสบการณ์ในตลาดทองของผมในอดีต การพยายามคาดเดาว่าคนพวกนี้จะออกมาพูดอะไร ผมคิดว่าค่อนข้างเสียเวลาเปล่า มันแทบไม่ต่างกับการเดาสุ่มเท่าไหร่
คือ พวกเขาจะออกข่าวร้ายสลับข่าวดี เหวี่ยงตลาดไปๆมาๆ หลายรอบ กว่าบทสรุปสุดท้ายจะออกมา
นี่ถ้าพวกเขามีเล่นทริกนิดหน่อยแล้วมีผลประโยชน์ทับซ้อนแฝงอยู่ ก็คงเป็นการ "เล่นรอบ" ทำกำไรกันไปได้มากโขเลยทีเดียว (แต่โดยหลักการแล้ว กฏหมายประเทศต่างๆ จะควบคุมคนพวกนี้ไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างเคร่งครัด .... มั้ง :v )

นอกจากนั้นในประเด็นเรื่องความถูกแพง เดิมผมคิดว่าตลาดหุ้นประเทศอื่นๆจะเข้าถึงข้อมูลอย่าง p/e และ p/bv เฉลี่ยของตลาดได้ง่ายๆเหมือนตลาดหุ้นเมืองไทย แต่ก็พบว่าผมคิดผิด มันเป็นข้อมูลที่หาได้ยาก ราวกับว่าตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้นๆเอง ไม่อยากให้คนทั่วไปเข้าถึงเรื่องนี้ได้

กลับมาดูที่พอร์ตตัวเอง ผมแบ่งการลงทุนในหุ้นออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ
ครึ่งนึงเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวม อีกครึ่งนึงเป็นการเลือกหุ้นเพื่อลงทุนด้วยตัวเอง

กองทุนรวมหุ้นส่วนใหญ่ของผมนั้น เป็นกองทุนที่ลงทุนภายในประเทศ แต่ตอนนี้ดัชนีของตลาดหุ้นบ้านเราก็เข้าข่ายตลาดที่แพง เดิมคิดว่าจะย้ายไป DCA ประเทศอื่นบ้าง แต่ก็ยังหาที่ลงไม่ได้ง่ายเท่าไหร่ จากเหตุผลที่เล่าไปข้างต้น

ตลาดหุ้นที่รู้ว่า p/e ตอนนี้ต่ำมาก และเป็นพี่ใหญ่ของโลกด้านเศรษฐกิจ มีเห็นชัดอันนึงคือจีน แต่ผมอยากได้ตัวเลือกอื่นเพิ่มด้วยอีกซัก 1-2 ตัว มากระจายความเสี่ยงกันหน่อย แต่ยังหาไม่ค่อยจะได้เลย

บางที ผมน่าจะกลับไปหาหุ้นเป็นตัวๆ กองทุนอสังหาที่ปันผลสูง หรือตราสารหนี้ระยะสั้น เป็นทางเลือกเสริม แทนที่จะติดอยู่กับการสร้างพอร์ตตามสัดส่วนที่ออกแบบไว้แต่เดิม น่าจะดีกว่าใช้เวลาทั้งหมดไป กับการพยายามหากองทุนหุ้นดัชนีดีๆในต่างประเทศ แต่ไม่ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจกลับมาเลย เป็นแผนสำรองในสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกหาที่ลงทุนใหม่ๆได้ยากอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้

วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2559

แนวคิดเกี่ยวกับมูลค่าของหุ้น (2) : มูลค่ามาจากระยะเวลาคืนทุน

1. มูลค่ามาจากความสามารถในการสร้างผลกำไร (มองว่าหุ้นคือ เครื่องจักรผลิตกระแสเงินสด)

"จงลงทุนในหุ้น เหมือนลงทุนในธุรกิจ" ("Investment is most intelligent when it is most businesslike" - quote ของ เบนจามิน เกรแฮม) คงเป็นประโยคที่หลายๆคนน่าจะเคยได้ยินกันมาก่อน จากสื่อต่างๆที่เสนอเรื่องการลงทุนแบบ VI

ในชีวิตเรานั้น บางที ก็จะมีโอกาสทางการลงทุน หรือธุรกิจบางอย่างที่เราสนใจผ่านเข้ามา แล้วเราต้องตัดสินใจว่าเราจะลงทุนในธุรกิจนั้นดีหรือไม่ หรือจะคุ้มหรือไม่

สิ่งที่มักใช้ประเมินความคุ้มในการลงทุน อย่างนึงก็คือ ผลตอบแทนที่เราจะได้รับ
แน่นอนเราย่อมหวังผลตอบแทนที่มากกว่า สิ่งที่เราลงทุนจ่ายออกไป จึงจะเรียกว่าเป็นการลงทุนที่ "มีกำไร"
ทีนี้ในการลงทุนเนี่ย มันมักจะมีปัจจัยเรื่อง "เวลา" ที่เราต้องนำมาคิดด้วย
และคำถามหลักๆ ที่ทุกคนคงคิดถึงก็คือ
- ลงทุนไปแล้ว ต้องรออีกนานเท่าไหร่ กว่าจะ คืนทุน
- และหลังจากคืนทุนแล้ว จะได้กำไรเท่าไหร่ ในทุกๆปีหลังจากนั้น

ซึ่งนั่นก็เลยเป็นที่มาของ วิธีประเมินมูลค่าหุ้น ตามหัวข้อย่อยต่อไปนี้ *-* (เกริ่นซะยาว กว่าเข้าเรื่องได้ซักที)

1.1 มูลค่ามาจากระยะเวลาคืนทุน
อันนี้ระวังจะสับสนกับ "จุดคุ้มทุน" น่ะครับ มันฟังคล้ายๆกัน แต่ต่างกันมาก
จุดคุ้มทุน มันคือจุดที่เราใช้กำหนดราคาขายของสินค้าหรือบริการของเรา ว่าต้องขายราคาไม่น้อยกว่ากี่บาท จึงจะไม่ขาดทุน (คือ กระแสเงินสดในภาพรวมไม่ติดลบ)
แต่ "ระยะเวลาคืนทุน" เรามองเรื่องเวลา ที่ผลตอบแทนจากธุรกิจ จะสะสมรวมกลับมาให้เท่ากับ จำนวนเงินลงทุนที่เราจ่ายลงไปให้ธุรกิจนั้น

ลองคิดดูเล่นๆ กันตรงนี้ดูน่ะครับ ว่าสมมุติถ้าเราจะลงทุนในธุรกิจอะไรซักอย่าง ระยะเวลาคืนทุนเท่าไหร่คือระยะเวลาที่เหมาะสม และคุ้มค่าที่จะลงทุน :)
เดี๋ยวผมจะอธิบายไปเรื่อยก่อนและทุกคนน่าจะได้คำตอบตอนจบบท
;
;

ปกติระยะเวลาคืนทุนของธุรกิจ หรือหุ้นนั้น เบื้องต้นเราจะมองกันที่อัตราส่วนทางการเงินตัวนึงที่เรียกว่า P/E ratio

P คือ Price คือ ราคาหุ้นในตลาดปัจจุบัน
E คือ Earning คือ กำไรต่อหุ้น (จากงบปีล่าสุด - ต้องใช้ของงบการเงินรายปีน่ะครับ ระวังอย่าใช้ของรายไตรมาส)

คิดแบบคณิตศาสตร์ง่ายๆ P/E จะบอกตัวเลขโดยตรงว่า ถ้าซื้อหุ้นตัวนี้ ณ ราคานี้ จะต้องใช้เวลาอีกกี่ปีจึงจะคืนทุน บนสมมุติฐานที่ว่า หุ้นนั้นจะมีค่า E เท่าเดิม ทุกๆปี อย่างสม่ำเสมอต่อไปในอนาคต

ถ้าถามว่า P/E ที่เหมาะสม ควรจะเป็นเท่าไหร่ ? จากที่ผมศึกษามาหลายสำนักและจากประสบการณ์ส่วนตัว คงต้องบอกว่า ตัวเลข P/E ที่เหมาะสมนั้น "ไม่มีสูตรตายตัว" ครับ

แม้ว่า โดยส่วนใหญ่จะพูดกันว่า หุ้นที่ P/E ที่ต่ำกว่า 10 ลงมา ถือว่าเป็นหุ้นที่ราคาถูกแล้ว
แต่คุณจะเห็นไอดอลนักลงทุน VI หลายคน ที่แต่ละคนกลับบอกค่า P/E ที่เขาคิดว่าเหมาะสม แตกต่างกันไปได้ต่างๆนาๆ

แล้วอย่างงี้ เราจะเชื่อใครดี หรือ เรายังเชื่อหลักการแบบ VI ได้หรือไม่ ?
เพื่อตอบคำถามนั้น เราต้องเข้าใจหลักการที่ลึกขึ้นไปอีก

สาเหตุที่ P/E นั้นมีค่าเหมาะสมได้หลากหลาย ก็เพราะว่ามันมี ตัวแปรอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากนั้น ซึ่งก็เป็นตัวแปรสำคัญ ในการประเมินระยะเวลาคืนทุนของหุ้นตัวนั้นๆอยู่ด้วย
ตัวแปรที่ว่านั้นคือ
- G คือ Growth คือ อัตราการเจริญเติบโตของผลกำไร => หุ้นที่มี Growth สูงกว่า ย่อมเหมาะสมที่จะมี P/E สูงกว่าด้วย เพราะหุ้นที่มีการ เติบโต นั่นหมายความว่า กำไรปีหน้า จะสูงกว่าปีนี้ และกำไรปีต่อๆไป ก็จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆทุกปี ดังนั้น ระยะเวลาคืนทุนจริงๆของคนที่ถือหุ้นตัวนั้นอยู่ จะน้อยกว่าตัวเลขที่ค่า P/E แสดงให้เราเห็น จึงไม่แปลกที่หุ้นซึ่งมี Growth สูงจะมี P/E สูงไปด้วย
- ความสม่ำเสมอของผลประกอบการ และ
- ความมั่นคง ความเสี่ยง ของตัวธุรกิจนั้น => ธุรกิจที่มีความมั่นคงที่สูงกว่า มักแสดงออกมาในรูปของผลประกอบการที่สม่ำเสมอกว่าด้วย แน่นอนหุ้นที่มีความมั่นคง สม่ำเสมอ ก็จะมีความเสี่ยงต่ำไปด้วย และความสม่ำเสมอนี้ทำให้เรา คาดการณ์ การเติบโตของอนาคตได้แม่นยำกว่า หุ้นที่ผลประกอบการดีบ้างไม่ดีบ้างในแต่ละปี และเพราะอย่างนั้น มันก็เป็นไปได้ที่จะมีค่า P/E เหมาะสม ที่สูงกว่าหุ้นตัวอื่นที่มีความมั่นคงน้อยกว่า ซึ่งนี่รวมไปถึงหุ้นที่เป็นผู้นำตลาดหรือเป็น รายใหญ่ ในกลุ่มเดียวกันด้วย (คนที่เป็นเบอร์ 1 ในตลาด ก็ย่อมมั่นคงมากกว่าคนอื่นๆในตลาดเดียวกันนั้น)
- ความตึงเครียดของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ => ข้อนี้ค่อนข้างอธิบายยากและผมไม่รู้ศัพท์เฉพาะทางที่จะเอาไปค้นต่อด้วย แต่โดยคร่าวๆคือ หากยุคสมัยนั้นทรัพยากรและความมั่งคั่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากกว่า ระยะเวลาคืนทุน ที่ยอมรับกันได้ ก็จะสูงกว่าด้วย , ข้อนี้ไม่มีหนังสือเล่มไหนพูดถึงกันเท่าไหร่ แต่อันที่จริงเป็นสิ่งที่ เบนจามิน เกรแฮม ได้แสดงออกมาอยู่ในสูตรหา มูลค่าเหมาะสมของหุ้น (intrinsic value) ของเขาอยู่แล้ว ซึ่งจะอธิบายรายละเอียดในส่วนต่อไป
- ค่าความนิยมของแบรนด์ => แบรนด์ไหนดังกว่า มูลค่าทางตลาดสูงกว่า ก็ถือว่ามีข้อได้เปรียบคู่แข่งรายอื่นในตลาดเดียวกัน เพราะมักจะขายสินค้าหรือบริการได้ง่ายกว่าไปด้วย ความดังของแบรนด์นี้บางทีก็ทำให้นักลงทุนเห็นว่า จะนำไปสู่การเติบโตที่มากกว่าคู่แข่งในอนาคต จึงยอมซื้อกันในระดับ P/E ที่สูงขึ้นได้ด้วยเช่นกัน
- อายุขัยของมนุษย์ - คือ มันฟังดูไม่น่าเกี่ยว แต่ก็เกี่ยว ลองคิดดูว่าถ้าการลงทุนใช้เวลา 50 ปีในการคืนทุน แล้วมนุษย์ที่มีอายุไขราวๆแค่ 100 ปี จะยอมรับได้ยังไงกับการลงทุนที่ใช้เวลานานขนาดนั้น ? นักลงทุนเมื่อศึกษาและวิชาแก่กล้าถึงจุดนึงจะเริ่มเห็นคุณค่าของ "เวลา" และพวกเขาจะเอาเรื่องนี้มา คิดด้วยแน่นอน ... นี่ยังไม่นับว่า ช่วงเวลาที่ ร่างกายเรายังแข็งแรง เหมาะกับการใช้สอยความมั่งคั่งที่หามาได้ มันก็น้อยกว่านั้นอีก และคนเราก็ย่อมพยายามจะสร้างความมั่งคั่งให้เร็วทันกินทันใช้ด้วย นี่เป็นแรงผลักดันนึงที่มีอิทธิพลต่อ ระยะเวลาคืนทุน ทีี่มนุษย์แต่ละยุคสมัย จะยอมรับได้ไม่เท่ากัน
- ฯลฯ (คิดเยอะไปก็ไม่ดีน่ะ :P เอาแค่ข้างบนนั่นก็ปวดหัวแย่ละ)

ตัวแปรเพิ่มเติมที่ว่าไปข้างต้นนั้น บางอันสามารถไปคำนวณได้โดยตรง (เช่น Growth, ความมั่นคง, ความตึงเครียดของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ) บางอันต้องใช้ senses พิเศษ ที่เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวของนักลงทุน ว่าจะให้แต้มบวกหรือลบสำหรับหุ้นตัวนั้นไปมากหรือน้อยเท่าไหร่อย่างไร (เช่น ค่าความนิยมของแบรนด์ อันนี้เป็นนามธรรมที่เอามาคำนวณตัวเลขได้ลำบาก) ส่วนเรื่องอายุขัยของมนุษย์ มันถูกแสดงออกมาโดยตลาด และด้วยกลไกตลาดอยู่แล้ว แม้จะเกี่ยวแต่เอาผลลัพธ์ที่ปู่ เกรแฮมฯ ศึกษามาแล้ว สรุปมาให้เราแล้ว เฉยๆก็พอ (แล้วเอ็งจะพูดขึ้นมาทำไมซะยืดยาว - -a )

ถึงตรงนี้ขอทวนและย้ำหน่อยน่ะครับ ว่า เรากำลังพูดถึง "ระยะเวลาคืนทุน" มันอาจจะดูคล้ายแต่มันไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับค่า P/E

อ่านถึงตรงนี้แล้ว พอจะนึกคร่าวๆได้รึยังครับ ว่าระยะเวลาคืนทุน ที่เหมาะสมนั้น น่าจะเป็นค่าประมาณเท่าไหร่ ;)

ผู้อ่านอาจจะคิดว่า ไม่เห็นต้องอะไรยืดยาว ยังไง ระยะเวลาคืนทุน ยิ่งน้อยก็ยิ่งดีอยู่แล้ว
ซึ่งก็จริงครับ แต่ถ้าอย่างงั้น เราจะแยกแยะได้อย่างไร ในเวลาที่ตลาดทั้งตลาดล้วน "แพง" ทั้งหมด ?
ถึงคุณจะหยิบหุ้นที่ ระยะเวลาคืนทุนน้อยที่สุดในตลาดขณะนั้นขึ้นมาได้ แต่ถ้าเป็นช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตลาดอยู่ในวัฎจักรช่วงที่ราคากำลังแพง หุ้นที่หยิบขึ้นมาได้นั้นก็เป็นไปได้ที่จะ "แพงเกินไป" อยู่ดี เมื่อตลาดฟองสบู่แตกหรือเงินทุนไหลออก แม้คุณจะขาดทุนน้อยกว่าคนอื่น แต่ก็ยังได้ชื่อว่า ขาดทุน อย่างยากจะกู้กลับคืนมาได้ อยู่ดี

ข่าวดีคือ ทางออกของเรื่องทั้งหมดที่ว่ามานั้น เบนจามิน เกรแฮม ได้วิจัยและศึกษามาแล้วเรียบร้อย จนได้คำตอบและสรุปออกมาเป็นสูตรให้เราๆ พอจะหยิบจับกันไปใช้ได้อยู่แล้วครับ เดี๋ยวผมจะอธิบายสูตรของปู่เกรแฮมให้ฟัง

อนึ่ง ที่ผมจะอธิบายต่อไปนี้ เป็นความเข้าใจส่วนตัวของผมเองที่เรียนเองแบบมวยวัด ถ้ามีตรงไหนผิดพลาดก็สามารถท้วงติงได้ครับ

สูตรที่ว่าก็คือ V* = EPS x (8.5 + 2g) x (4.4/Y)
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Benjamin_Graham_formula )

V* คือ Intrinsic Value หรือ มูลค่าเหมาะสมของหุ้นนั้น
EPS คือ Earning Per Share คือ กำไรต่อหุ้น
8.5 คือ ค่า P/E เหมาะสมของธุรกิจที่ไม่มีการเจริญเติบโต (ตามความคิดของ เกรแฮม)
g คือ Growth ประมาณการณ์ระยะยาว (ประมาณ 5 ปี) ของผลกำไร
4.4 คือ Yield เฉลี่ยของหุ้นกู้เกรด AAA ในปี 1962 ที่สูตรนี้ถูกคิดค้นขึ้นมา
Y คือ Yield ปัจจุบันของ หุ้นกู้ ระยะเวลา 20 ปี เกรด AAA (ในปี 1962 มันก็คงเท่าๆกับค่า 4.4 ที่เอาไว้อ้างอิง)

สมมุติว่าเราอยู่ในปี 1962 ดังนั้นเราจะตัด 4.4 กับ Y ออกไปจากสูตรก่อนน่ะครับ (ซึ่งมันจะเท่ากับสูตรแรกจริงๆของปู่เขา ที่ยังไม่เติมตัวแปรนี้เข้ามา)

กุญแจสำคัญอยู่ที่เลข 8.5 นั่นครับ
จะเห็นว่าในทัศนของ เกรแฮม นั้น P/E ที่เหมาะสม ของธุรกิจ ที่ไม่มีการเติบโต (g = 0) คือ 8.5
แปลว่า ธุรกิจใดๆ ควรมีระยะเวลาคืนทุนที่เหมาะสม คือ 8.5 ปี ครับ
ซึ่งเมื่อ g = 0 ค่า P/E จะแสดงระยะเวลาคืนทุนของธุรกิจแบบ ตรงๆ
แต่ถ้า g != 0 ค่า P/E จะเป็นคนละค่ากับ ระยะเวลาคืนทุน
แต่สิ่งที่เป็นแก่นจริงๆ คือ ระยะเวลาคืนทุนของธุรกิจ
ดังนั้นจึงต้องหาวิธีเอา g กับ P/E กับ ระยะเวลาคืนทุน มาระบุความสัมพันธ์กันให้ได้ ซึ่งก็ออกมาเป็นสูตรของเกรแฮมสูตรนี้
(ในอีกทางนึง ตีความจากสูตรนี้แล้ว 8.5 + 2g = P/E เหมาะสมของธุรกิจนั้นๆ)
ดังนั้น หากเรากำลังมองดูธุรกิจใดๆ ในปี 1962 ระยะเวลาคืนทุนที่เหมาะสมตามทัศนะของ เกรแฮม นั้น คือ 8.5 ปีครับ

หากยังไม่เข้าใจตรงนี้ ลองค่อยๆทวนอีกครั้งจนเข้าใจน่ะครับ
เพราะถ้าเข้าใจแล้ว คุณเอาไปใช้ได้หลายอย่าง

ส่วนตัวเลข 4.4 กับ Y นั้น เป็นตัวแทนถึงสิ่งที่ผมเรียกแทนว่าเป็น "ความตึงเครียดของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ" ในเวลาที่เราหยิบสูตรนี้มาใช้
คือถ้าเศรษฐกิจดีๆ Y ก็จะมีค่าสูงกว่า 4.4 (ระยะเวลาคืนทุนที่ยอมรับได้ ก็ต่ำกว่า 8.5 ) ถ้าเศรษฐกิจแย่ Y ก็จะมีค่าต่ำกว่า 4.4 (ระยะเวลาคืนทุนที่ยอมรับได้ ก็สูงกว่า 8.5 )
ในสูตรเดิมของเกรแฮม ไม่มีส่วนนี้อยู่ แต่เขาเติมเข้ามาเพื่อให้สมบูรณ์ขึ้น จะได้ใช้ต่อไปอีกในอนาคต

แต่ในทางปฏิบัตินั้น สูตรนี้ กลับมีคนใช้จริงๆค่อนข้างน้อย ซ้ำบางคนกลับมองว่ามันล้าสมัยและใช้กับยุคปัจจุบันไม่ได้แล้วอีกด้วย
ซึ่งพอเรามาทำความเข้าใจความเป็นมาของสูตรนี้จริงๆแล้ว ผมกลับมองว่าเกรแฮมนั้น เก่งมาก และแม้จะใช้สูตรนี้ตรงๆไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าใจความหมายของตัวแปรแต่ละตัว เราสามารถประยุกต์ใช้มันให้เข้ากับยุคสมัยเองก็ได้

แรกเริ่มผมก็พยายามลองใช้สูตรนี้ แต่ก็ล้มเลิกไป เพราะว่าหาหุ้นกู้เกรด AAA มาอ้างอิงไม่ได้
อีกทั้ง ตัวเลขอ้างอิง 4.4 นั้น เป็นของตลาด อเมริกา ซึ่งผมคิดว่าหากจะเอาไปใช้ประเทศอื่น เราก็ต้องไปหาค่าอ้างอิงที่มาจากสถิติย้อนหลังภายในประเทศเป้าหมายนั้นๆแทน

แต่สิ่งมีค่าอย่างนึงที่ได้มาคือ ระยะเวลาคืนทุนที่เหมาะสมกลางๆ คือ 8.5 และอาจจะบวกเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้บ้างตามแต่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในยุคสมัยนั้นๆ ส่วนวิธีการคำนวณให้รู้ได้ว่าหุ้นที่เราดูอยู่นั้นระยะเวลาคืนทุนเป็นเท่าไหร่ เราก็ไปหาทางของเราเองอีกทีนึง

หลังจากยุคของ เกรแฮม แล้ว ก็มีคนเอาความรู้ที่ปู่แกถ่ายทอด ไปประยุกต์ใช้ในแบบต่างๆมากมาย

อันนึงที่ดูง่ายหน่อยพอจะพูดในนี้ได้คือ วิธีของ ปีเตอร์ ลินซ์ คือใช้ PEG ซึ่งเท่ากับ P/E หารด้วย Growth
โดยถ้าค่า PEG สูงกว่า 1 หมายถึงหุ้นนั้นแพง ถ้าต่ำกว่า 1 หมายถึงหุ้นนั้นเริ่มจะมีราคาถูก
เกี่ยวกับตัวอย่างการใช้ PEG และวิธีการคิด ผมแนะนำให้อ่านอันนี้ https://clubvi.com/2012/10/04/peg/
(เขาเขียนไว้ดีแล้ว เราไม่ต้องเขียนซ้ำ สบายเฮ :D )

ผมเองหลังจากศึกษาสูตรของเกรแฮมแล้ว ก็พัฒนาวิธีแบบนึงของตัวเองขึ้นมา โดยอาศัยวิชากราฟเข้ามาช่วยคิดด้วย ซึ่งขอยกไว้อธิบายแยกเป็นอีกบทต่างหากเพราะคงยาวครับ

ที่เล่ามาทั้งหมดนั้น ก็เป็นวิธีการหามูลค่าของหุ้น ตามแนว VI วิธีแรก คือคิดจากมุมมองด้าน ระยะเวลาคืนทุน ของหุ้นตัวนึงๆ

อ่านถึงตรงนี้แล้ว คุณผู้อ่านคงพอได้ ไอเดีย ในการคำนวณหามูลค่าเหมาะสมของหุ้น บ้างแล้ว ก็ลองเอาไปคิดเพิ่มเติม และฝึกฝนใช้งานกันดูได้น่ะครับ :)

ส่งท้าย - แม้จะมีสูตรแล้ว แต่การเอาไปใช้จริง ก็มีรายละเอียดอีกมาก กว่าเราจะได้มาซึ่งค่าของตัวแปรแต่ละตัวที่จะได้มาใช้คำนวณ (บางค่าถ้าหาแบบมักง่าย มูลค่าที่คำนวณได้ก็อาจจะเชื่อถือไม่ค่อยได้ไปด้วย) จนไปถึงการได้มูลค่าเหมาะสมของหุ้นตัวนึงๆ ซึ่งต้องใช้ทักษะการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (งบการเงิน และตัวเลขต่างๆในสูตรที่ว่าไปข้างต้น) และเชิงคุณภาพ (การเข้าใจโมเดลธุรกิจ ความมั่นคง ความเสี่ยง ฯลฯ) ซึ่งต้องยกไปอธิบายในซี่รี่ส์อื่นอีกทีนึงครับ

วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559

หยุดสงกรานต์ยาวๆ หากมีทองอยู่ในพอร์ตอยู่ ควรถือข้ามสงกรานต์หรือไม่

เห็น topic หนึ่ง ไหลผ่านตาบน facebook ด้วยคำถามว่า หยุดสงกรานต์ยาวๆ หากมีทองอยู่ในพอร์ตอยู่ ควรถือข้ามสงกรานต์หรือไม่

ถึงผมจะเป็น VI แต่จุดเริ่มต้นนั้นเคยเริ่มในตลาดทองมาก่อน และสรุปบทเรียนบางอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับคำถามข้างต้นนั้น มาได้ว่า

เราไม่ควรถือทอง หรือ session ในพอร์ตเก็งกำไรใดๆเอาไว้ ข้ามช่วงวันหยุดยาว ที่ประเทศอื่นๆเขาไม่ได้หยุดพร้อมกันกับเรา

การเก็งกำไรนั้นค่อนข้างเหมือนการทำศึกน่ะครับ และหลักการข้อนึงคือ เราต้องไม่ลงไปเล่นในสมรภูมิที่เห็นชัดว่าเราเสียเปรียบ

การที่เรา ปล่อยของไว้ในพอร์ตเก็งกำไร ข้ามช่วงเวลาที่ตลาดบ้านเราปิด (ซื้อขายไรไม่ได้เลย) แต่ตลาดประเทศอื่นๆ กลับยังเปิดทำการกันอยู่ มันคือการเสียเปรียบอย่างชัดเจน และมันจะเพิ่มความเสี่ยงในพอร์ตเก็งกำไรอย่างมาก และมันทำให้ระบบเทรดที่เราวางแผนไว้ เป็นหมันได้ เพราะเราจะไม่สามารถถอยออกมาได้อย่างทันท่วงที หากเกิดเหตุที่ผิดแผนใดๆขึ้นมา
นักเก็งกำไรย่อมรู้ดีว่า ถอยให้ทันและเร็วที่สุด ในช่วงเวลาที่ถูกต้องนั้น สำคัญแค่ไหน

ใครคิดว่าจะใช้หลัก VI ในตลาดทอง
บทเรียนข้อนึงที่ผมได้จากตลาดทองคือ ตลาดทอง เป็นการเก็งกำไรเพียวๆ คุณใช้หลัก VI ในนี้ไม่ได้ ข่าวนั่นนี่ที่ออกมาแล้วมีผลกับราคาทองนั้น มันก็เหมือนกับการออกสื่อของนักวิเคราะห์รายวันนั่นแหละครับ หาเหตุผลมาตอบเหตุการณ์ที่เกิดไปแล้วเฉยๆ ยิ่งพยายามหาข้อมูลพื้นฐานมากขึ้นเพื่อ "ทำนาย" การเคลื่อนไหว มันก็ไม่ช่วยอะไรเลย มันพลิกกลับไปกลับมาได้ทุกวัน
สิ่งที่ใช้ได้ในตลาดนี้ คือระบบเทรดที่ดี และการตอบสนองที่ทันท่วงทีอย่างมีวินัยเท่านั้น

พูดมาซะยาว สรุปสั้นๆแค่ว่า วันหยุดต่อเนื่องยาวๆ ที่ประเทศอื่นเขาไม่ได้หยุดกับเราด้วยในตลาดเดียวกัน ถ้าผมจะเล่นเก็งกำไรก็จะไม่ถือของในพอร์ตเก็งกำไร ค้างเอาไว้เลยครับ คงล้างพอร์ตหมด

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2559

แนวคิดเกี่ยวกับมูลค่าของหุ้น (1.1) rewrite นิดหน่อย

เผอิญรู้สึกว่าที่เขียนไว้คราวก่อนนู้น (http://sompolinvestment.blogspot.com/2015/12/1.html) มันยังรู้สึกว่าห้วนๆไปหน่อย เลยเขียนปรับปรุงเพิ่มเติมส่วนเกริ่นนำเข้าไปด้วย เผื่อจะเข้าใจง่ายขึ้นครับ
=========================

มีประโยคนึงของเกรแฮม ที่ว่าไว้ว่า การเป็น vi นั้นไม่ยาก หากคุณซื้อของเป็น ก็คือเป็น vi แล้ว

การซื้อของในชีวิตประจำวันนั้น หากเป็นการซื้ออย่างมีเหตุผล ปกติเราก็น่าจะพิจารณาจากเหตุผลประมาณว่า
- เป็นของที่จำเป็น สำหรับเรารึเปล่า ซื้อมาแล้วเราใช้คุ้มมั้ย
- ราคาเป็นเหมาะสมรึเปล่า เทียบกับร้านอื่นๆ
- มันจะลดราคาอีกเมื่อไหร่

เกรแฮมยังเปรียบเทียบไว้ว่า หากคุณเห็นแฮมเบอร์เกอร์ที่คุณอยากกิน กำลังลดราคา คุณก็คงไม่ลังเลที่จะซื้อมัน ยิ่งลดราคามากเท่าไหร่คุณจะยิ่งอยากซื้อมันมากเท่านั้น แต่เป็นเรื่องแปลกที่ในตลาดหุ้น ผู้คนกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือยิ่งเห็นหุ้นตก ยิ่งไม่กล้าซื้อ และยิ่งเห็นราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากเท่าไหร่ กลับยิ่งอยากซื้อมากขึ้นเท่านั้น

ตอนนี้อาจจะมีคนคิดว่า ฟังหรือพูดเฉยๆมันก็ง่ายสิ แต่กับหุ้นนั้นเราจะไปรู้ได้ไง ว่าราคาแบบไหนถือว่าถูก แบบไหนถือว่าแพง

ลองกลับไปนึกถึงเหตุผลเวลาที่เราใช้ซื้อของทั่วๆไปที่เปรยไว้ตอนต้น ผมคิดว่า ความถูกแพงนั้น ค่อนข้างเป็นสิ่งที่ค่อนข้างขึ้นกับการเปรียบเทียบ ค่อนข้างมาก เป็นการเปรียบเทียบในแต่ละทางเลือกที่เรามี ว่าหนทางไหน จะทำให้เราได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ โดยลงทุนลงแรงน้อยที่สุด

เช่น สมมุติผมอยากกินเค้ก ทางเลือกที่ผมมีคือ
- ทำเค้กกินเอง ซึ่งต้นทุนชิ้นละ 50 บาท
- ซื้อจากร้าน A ที่ขายเค้กชิ้นละ 30 บาท
- ซื้อจากร้าน B ที่ขายเค้กชิ้นละ 40 บาท

หากสมมุติว่าทุกทางเลือกนั้นเราได้เค้กมาหน้าตาเหมือนกัน รสชาติอร่อยพอๆกัน ผมเชื่อว่าทุกคน ย่อมเป็นทางเลือกที่ 2 แน่นอน ซึ่งมันเป็น common sense ธรรมดาที่พวกเราทุกคนใช้กัน จนเคยชิน
ซึ่งมันก็ตรงกับหลักการซื้อหุ้นแบบ vi เช่นกัน เพราะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุด

กลับมาที่หุ้น มุมมองเกี่ยวกับมูลค่าของหุ้น ตามแนวคิดของ vi ตามที่ผมเข้าใจ มีอยู่สองแนวคิดใหญ่ๆ

1. มูลค่ามาจากความสามารถในการสร้างผลกำไร
มุมมองนี้มองว่า มูลค่าหุ้น มาจากการที่หุ้นสามารถผลิตกระแสเงินจากการดำเนินงานแล้วได้กำไร แล้วปันผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น ยิ่งทำกำไรได้มาก อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นเวลานาน มูลค่าก็ยิ่งมาก
ซึ่งก็มีประเภทย่อยอีกดังนี้คือ

1.1 มูลค่ามาจากระยะเวลาคืนทุน

1.2 มูลค่ามาจาก เงินสดทั้งหมดที่มันสร้างให้กับผู้ถือหุ้นได้ในอนาคต ตลอดช่วงชีวิตของมัน - ชื่อที่คุ้นเคยกันคือ Discounted Cash Flow
;

2. มูลค่ามาจากทรัพย์สินของบริษัทที่สะสมมา (ทรัพย์สินที่ไม่ใช่หนี้น่ะ)
คือ ถ้าสมมุติว่าบริษัทจะปิดตัวลงวันนี้ แล้วต้องขายทรัพย์สินทอดตลาดทั้งหมด เพื่อเอาไปใช้หนี้ให้หมด และส่วนที่ เหลือจึงเอาไปคืนผู้ถือหุ้น ส่วนที่เหลือมาคืนผู้ถือหุ้นนี้ ในทางทฤษฎีก็คือ "ส่วนของผู้ถือหุ้น" นั่นเอง เรามองว่านี่คือมูลค่าของบริษัทนี้ทั้งบริษัท จะตีเป็นมูลค่าหุ้นอีกทีได้ (เรื่องนี้มีรายละเอียดในเชิงปฏิบัติที่แตกต่างออกไปจากทฤษฎีอยู่บ้าง เดี๋ยวไว้เล่าทีหลัง)

อันที่จริง ยังมีอีกแนวคิดนึง ซึ่งผมว่ามันไม่เข้าหลักการของ VI เท่าไหร่นัก ออกจะค่อนข้างเป็นแนว ลูกครึ่ง แต่ก็มี VI แนวหน้าของประเทศบางคนใช้กันอยู่ ก็ขอแยกเอาไว้เป็นหัวข้อพิเศษคือ

*3. ความสามารถในการทำกำไร ผสมกับการตีมูลค่าที่ตลาดมีให้กับหุ้นตัวนั้น
ซึ่งผมคิดว่า มันเป็นประเภทนึงของ Relative valuation แบบที่พวก โบรกเกอร์ หรือนักวิเคราะห์ ชอบใช้กัน เพราะมีการเอา ปัจจัยจากการให้มูลค่าของ "ตลาด" มามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

ทั้งหมดนั้นเป็นภาพกว้างๆ ซึ่งเดี๋ยวจะลงรายละเอียดเพิ่ม ว่าในแต่ละมุมมองนั้น เวลาไปใช้งานจริงต้องทำยังไง ในโอกาสหน้าครับ

=======================
ปล. อันที่จริง ... ผมมึน จำไม่ได้ว่าอัพตอนนี้ไปแล้ว ยังเขียนเพิ่มต่อไปเรื่อย พอจะมาอัพอีกทีปรากฏว่า อ่าว เคยอัพไปแล้วนี่นา ... แต่จะไม่อัพเวอร์ชั่นที่เขียนใหม่นี้ก็เสียดาย เลยขออัพหน่อยละกันครับ ><

วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2559

ทบทวนประสบการณ์การลงทุนปี 2015 ของโผม

เหตุการณ์สำคัญของผมในปี 2015 พอจะรวมได้คร่าวๆดังนี้

1. ขายหุ้นที่ถือมานาน (ผูกพันธ์) 2 ตัว
ตัวแรกคือ MBK ตัวนี้ถือมาตั้งแต่เริ่มเล่นหุ้นใหม่ๆ และเป็นหุ้นตัวเดียวที่ซื้อตามมาร์แล้วดันได้กำไร ซึ่งเหตุผลตอนซื้อนั้นมีแค่ P/BV ที่ต่ำราว 1 นิดๆ และความคิดว่า เราก็เห็นห้าง MBK มานาน คนเดินเยอะ ซื้อไว้ก็ไม่เสียหาย (ย้อนกลับไปดูแล้วก็จะเห็นว่า เหตุผลที่ซื้อนั้น ค่อนข้าง ไม่รัดกุมเอามากๆ ตามประสาเม่าฝึกหัดสมัยนั้น) หลังจากถือมาแล้วก็ค่อยๆศึกษามันไปว่า มันมีธุรกิจอะไรบ้าง ก็ค่อยๆอินกับมันมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นมันยังดูแลผู้ถือหุ้นดีด้วยน่ะ คือมีการส่งแผ่นพับที่อัพเดทความเป็นไปของบริษัทมาประมาณปีละ 2-3 ฉบับ แถมมีบัตรสมาชิก MBK เอาไว้ใช้อภิสิทธิ์ได้หลายอย่างในห้างนั้นด้วย (แต่ผมยังไม่เคยใช้เลยแม้แต่ครั้งเดียว 55) หลังจากซื้อไปไม่กี่เดือน ราคาก็กระโดดอย่างมีนัยสำคัญจริงๆ เกือบ 40% ของราคาทุน และมันก็อยู่แถวๆนั้นไม่ไปไหนต่อกันมาราว 2 ปี
ส่วนเหตุผลที่ขายนั้น ก็คือมีวันนึง ราคามันพุ่งไปแรงมาก จนผิดสังเกต ทั้งที่ไม่มีข่าวอะไรพิเศษ ณ ตอนนั้น ประกอบกับเรามาดูย้อนหลังก็เห็นว่า การเติบโตของ ปันผล ที่เราได้รับ อยู่ในระดับที่ช้าไปหน่อย แถมมีแววจะชะลออีกต่างหาก เพราะเป็นช่วงที่ไทยกำลังมีปัญหาเงินฝืดอยู่ ซึ่งจะกระทบกับหุ้นตัวนี้ได้มาก และราคาตลาด ณ ตอนนั้น หากเทียบกับราคาพื้นฐานที่ประเมินเอาไว้ ก็เกินไปค่อนข้างมาก หากเรากลับมาดูหลักการขายหุ้นของ VI นั้น นี่เป็นโอกาสดีที่จะขาย จึงตัดสินใจขายไป แม้จะยังผูกพันธ์กะมันอยู่ แต่เราไม่ควรเอาอารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผลในเรื่องการลงทุน

ตัวที่สองคือ INTUCH ตัวนี้เห็นหุ้นที่ผมซื้อจากผลการประเมินของตัวเองครั้งแรกๆเลยโดยไม่ได้พึ่งมาร์ โดยดูจากความสม่ำเสมอของผลกำไรย้อนหลัง และ Yield ปันผลยังน่าพอใจมากอีกด้วย ณ ราคาตลาดตอนนั้น และมันก็ไม่ทำให้ผมผิดหวัง เพราะราคามันก็วิ่งไปเยอะหลังจากนั้น แถมผมยังได้ปันผลที่น่าพอใจเรื่อยๆอีกตะหาก
จุดเปลี่ยนมาก็ตอนที่ เสร็จสิ้นการประมูล 4G รอบแรกเมื่อราวเดือน ต.ค. 2558 ที่ผ่านมา เมื่อรู้ผลการประมูล แล้วพบว่าประมูลกันราคาสูงมาก การหาเงินมาโปะตรงนี้คงยากทีเดียว โดยไม่กระทบกับการปันผลให้ได้ในระดับเดียวกันกับปีที่แล้วมา อีกทั้งผมสัมผัสได้ถึงความ ดุเดือด เกินไปของตลาดนี้ และสิ่งที่เป็น input ของธุรกิจอย่าง กรรมสิทธิ์ในคลื่นความถี่ ที่คล้ายกับเป็นสัมปทาน แบบนึง ต้องมาแก่งแย่งกันกินแย่งกันใช้แบบหน้ามืดขนาดนี้ มันแปลว่าโอกาสที่เหล่าธุรกิจสื่อสารจะเติบโตต่อไปได้อีกนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องยากแล้ว แถมยังต้องทำสงครามราคากับค่ายอื่นๆอีก, โดยส่วนตัวคิดว่าธุรกิจที่ดีนั้น ต้องเป็นธุรกิจที่มีช่องทางให้โตได้ และต้องเป็นผู้สร้างสรรค์ มากกว่าผู้แข่งขันที่ต้องอยู่สภาพแวดล้อมทีต้องแก่งแย่งทรัพยากรบางอย่างกันอย่างน่าสงสารแบบนี้ ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจขายไปทั้งหมด (และก็พบว่าเราคิดถูก เมื่อการประมูล 4G รอบที่ 2 จบลงพร้อมกับราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารทั้งหมดกลับมาดิ่งเหวกันส่งท้ายปี 2015 อย่างโหดร้าย)

จริงๆมีหุ้นตัวอื่นที่ขายออกไปในปี 2015 นี้ด้วย แต่ไม่ได้มีประเด็นน่าสนใจเหมือนสองตัวที่ว่าไปข้างต้น ก็ขอข้ามๆไปล่ะกันครับ

2. ทำความเข้าใจและทดลองใช้ Turtle trading กับกองทุน น้ำมัน
ช่วงต้นปี มีน้องในที่ทำงานเดียวกันคนนึง ซึ่งกำลังหัดลงทุนและไฟกำลังแรง ได้มาชวนดูกองทุนน้ำมัน โดยมีความเห็นกันว่า จุดนี้น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของน้ำมันกันแล้ว สินค้าโภคภัณฑ์แบบนี้ ต้องกลับมาโดดขึ้นแน่นอน พร้อมกับได้ ถกและวิเคราะห์กันไปในเรื่องนี้พอควรจนผมก็คล้อยตามไปด้วย แม้จะยังกังวลว่านี่ไม่ใช่รูปแบบการลงทุนที่เราถนัด (ผมเคย fail จากตลาดทองมาก่อน สมัยเป็นเม่า) แต่ก็มีอารมณ์อยากลองวิชา Turtle trading ที่ก็ได้ศึกษาและทำความเข้าใจอยู่พอดี
อย่ากระนั้นเลย ก็ลองใช้ซะ ว่ามันจะเป็นยังไง
ผลที่ได้นั้น ค่อนข้างน่าพอใจกับระบบ Turtle trading ที่เดียว และยืนยันว่าระบบนี้คือต้นแบบที่เหมาะกับการศึกษาหากใครอยากเป็นสาย trading จริงๆ
สุดท้าย ผมก็เสียค่าครูให้สนามนี้ไปอ่ะน่ะ (ขาดทุน) เคราะห์ดีว่าเงินก้อนที่มาลงนั้นปริมาณไม่เยอะมากนัก
ข้อคิดที่ได้จากการทดลองนี้คือ
- การใช้ระบบ trading กับกองทุนรวมที่มีความผันผวนนั้น ไม่ควรอย่างยิ่ง เหตุผลก็คือ กองทุนรวมนั้น ตอบสนองต่อการสั่งซื้อขายของเราช้าเกินไป ระบบดีแค่ไหนก็ไม่รอดครับ, แต่ กองทุนรวมนั้น เหมาะกับ passive investment ที่สุด (ซื้อทุกเดือนแบบ DCA ไป) แต่ต้องเป็นกองทุนหุ้นดัชนีเท่านั้น พวกสินค้าโภคภัณฑ์ จะเล่นต้องเป็นสนามที่เรา trading ได้ คือเราเป็นคนสั่งซื้อขายเองได้ และผลการซื้อขายนั้นก็เกิดขึ้นโดยตรงทันที เท่านั้นครับ
- ถ้ายังเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ ก็ไม่เหมาะจะเล่นแนว trading ครับ มันรบกวนการทำงานมากทีเดียว บางคนอาจจะทำได้น่ะ แต่จากการที่ผมทดลองกับตัวเอง รู้สึกไม่ peaceful กับแนวทางนี้ คือมันทำให้ชีวิตไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่น่ะ ผมชอบการลงทุนแบบมีความสงบสุขในจิตใจมากกว่า

3. หุ้นใหม่ๆ นั้นหายากมาก
ผมพยายามค้นหาหุ้นใหม่อยู่เรื่อยๆ แต่แทบไม่เจอตัวที่ผ่านเกณฑ์เลย แถมในภาพรวมหุ้นยังตกตลาดหดอีก ซึ่งนั่นทำให้พอร์ตรวมของผม ส่วนที่เป็นหุ้นก็หดลงไปมาก กลายเป็นมีสัดส่วนของเงินสดมากกว่าหุ้นมาก แต่การที่หาหุ้นผ่านเกณฑ์ไม่ได้ นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราจะอลุ่มอะล่วยในหลักการเลือกซื้อหุ้นซะด้วย การลดมาตรฐานในการคัดกรองหุ้นลง เพื่อให้พอซื้อหุ้นได้บ้าง นั้นอาจเป็นอันตรายมากกว่าจะได้ประโยชน์
แต่สุดท้ายผมก็เลือกหุ้นเข้าพอร์ตมา 2 ตัว (ไม่ต้องหลังไมค์มาน่ะครับ ผมไม่ใบ้หุ้นครับ ^^! ) ซึ่งเป็นหุ้นคุณภาพกลางๆ และราคาค่อนไปทางถูก ปันผลค่อนข้าง ok ก็รอดูว่าจะเป็นไงต่อไปครับ

ปล. อัพเดท ณ มี.ค. 59 , วันนี้มันทั้งคู่ก็ลบไปเกือบ 10% ละครับ ฮาๆ นี่ไงเลยไม่บอกหุ้นใครเดี๋ยวจะมาว่าผมทีหลัง (ผมไม่มีใบอนุญาติมันผิดกฏหมายด้วย) แต่ยังไม่เห็นว่าพื้นฐานมันแย่ตรงไหน ก็รอดูต่อไปครับ ตลาดช่วงนี้ที่ fund flow ไหลมารอบนี้มันแปลกๆ หุ้นปันผลดีๆ ดันตก หุ้นตลาดนิยม ขึ้นกันหมด เห็นเพื่อนบ่นหลายคนครับ

4. ซื้อแป้บนึงก็ขาย หลังจากวิเคราะห์เพิ่มแล้วพบว่าไม่ใช่ (ใจร้อน รีบซื้อเกินไป โดยวิเคราะห์เพียงผิวเผิน)
มีหุ้นประมาณ 2 ตัวเป็นอย่างน้อย ที่ผมกรองมาแบบหยาบๆ แล้วก็ซื้อไปเลยโดยคิดว่าค่อยไปวิเคราะห์ลงลึกเอาทีหลัง ดูเหมือนว่าหุ้นทุกตัวที่ด่วนเข้าซื้อเกินไปแบบนี้ สุดท้ายก็ต้องมาขายทีหลังในราคาที่ขาดทุนด้วย เพราะเมื่อศึกษามันเพิ่มก็มักจะพบว่า มันไม่ได้ดีอย่างตัวเลขผิวเผินที่เราใช้ตัดสินใจในครั้งแรก
เป็นบทเรียนว่า เราควรจะวิเคราะห์ให้มั่นใจจริงๆ ก่อนจะเข้าซื้อ จะดีกว่ามาก จะได้ไม่เสียอารมณ์และเสียเวลาทีหลัง แถมเสียค่าครูด้วย แบบนี้

5. ทดลองเขียน blog
ความคิดนี้เกิดจาก เพื่อนผมเห็นว่า ผมไปตอบกระทู้การลงทุน หรือการวิเคราะห์ให้เพื่อนฟังนั้น เนื้อหามันมีประโยชน์ดีและเราก็ถ่ายทอดได้ดี ทำไมถึงไม่รวบรวมเอาไว้เป็นกิจลักษณะ อย่างการเขียน blog ละ เวลามาหาอ่านจะได้อ่านง่ายๆในที่เดียว ไม่กระจัดกระจายแล้วหายไปกับกระทู้ที่ก็จะตกหน้าจอไปเมื่อเวลาผ่านไป จะมาอ่านอีกก็หาไม่เจอ
ผมก็เลยลองเขียน blog ที่คุณกำลังอ่านกันอยู่นี้ขึ้นมา
แรกๆก็ตั้งใจจะเขียน สัปดาห์ละบทความ ซึ่งก็ทำได้แค่ช่วงแรกๆ หลังจากนั้นก็เริ่มห่างขึ้นๆ จนกว่าจะรู้ตัวก็เหมือนจะกลายเป็น blog ดองไปซะแล้ว
การเขียนอะไรอย่างสม่ำเสมอนั้นดูเป็นอะไรที่ต้องมีวินัยมากพอดูสำหรับผม แต่มันก็ทำให้รู้สึกดีเหมือนกัน ต่างจากการง่วนกับแผนการลงทุนของตัวเองคนเดียว โดยไม่ได้แบ่งปันประสบการณ์หรือความรู้อะไรให้คนอื่นเลย
ปี 2016 นี่ก็จะพยายามดองให้น้อยลง และศึกษาฝึกปรือให้มากขึ้น จะได้มีเรื่องใหม่ๆมาเขียนให้ได้อ่านกันเรื่อยๆครับ

6. แบ่งพอร์ตส่วนนึงไปทดลองวิธีแบบ passive investment
คือลอง DCA นั่นเองครับ
สืบเนื่องจาก หุ้นที่ผ่านเกณฑ์นั้น หาแทบไม่ได้ ไม่รู้จะลงทุนอะไรดี เพราะสัดส่วนเงินสดชักจะเยอะไปละ เลยไปมองกองทุนรวม ที่ลงทุนในต่างประเทศบ้าง และได้ลอง แบ่งเงินลงทุนแต่ละเดือน มาลงตั้ง DCA เป็นสัดส่วนเล็กๆดูว่าจะเวิร์คมั้ย เพราะปู่บัฟเฟต เคยบอกว่า เป็นวิธีง่ายและเหมาะกับมือใหม่ คือ DCA ในกองทุนหุ้นดัชนี เลยจัดไปซะ 2 กอง อันนึงเป็น healthcare อีกอันคืออ้างอิง S&P500
ผลคือ กอง healthcare ตัดออกไปละครับ เพราะมาลองดูรายละเอียดเบื้องหลัง พบว่า P/E กองนี้เฉลี่ยแล้วแพงเกิน (การ DCA ให้ดี เรายังต้องสนเรื่องความถูกแพงอยู่บ้างน่ะครับ) แถมมีความเสี่ยงผูกกับนโยบาย Obama care ซึ่งส่อแววไม่สู้ดี เราเป็น VI ก็เลยถอยออกมาดีกว่า
ส่วน อีกตัวยังไปเรื่อยๆ เพราะอยากพิสูจน์สิ่งที่ปู่บัฟเฟตฯ บอกไว้ครับ (แล้วหุ้นเมกา ก็ดิ่งเอาๆ 555 ก็ดูกันต่อไปครับ)

7. ปรับพอร์ต บนสมมุติฐานว่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และไทยค่อนข้างหดตัว มูลค่าของพอร์ตผมเอง ในส่วนที่เป็นหุ้น ก็หดตัวลงตามตลาดไปมากเช่นกัน ผมเองอาจไม่ใช่คนชำนาญในเรื่อง เศรษฐกิจโลกมากนัก แต่จากการดูข่าวเศรษฐกิจทั่วๆไป ตลอดปีที่ผ่านมา ก็รู้สึกว่าปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งโลกในตอนนี้นั้น ดูแก้กันไม่จบง่ายๆ แน่นอน ไม่ว่าจะยุโรป เมกา จีน ญี่ปุ่น มีแต่ข่าวด้านลบ และข่าวถึงการชะลอตัวเต็มไปหมด หากมองกราฟหุ้นในภาพกว้างๆ ช่วงนี้คงเป็นช่วงซบเซาของรอบใหญ่ ซึ่งปกติกว่าจะลงกันสุด และนิ่งนั้น อาจใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะเริ่มฟื้นตัว ดังนั้น ผมจึงวางแผนการถัวเฉลี่ยลงไปในกองทุนรวมหุ้น เพื่อให้สัดส่วนพอร์ตกลับไปยังตัวเลขที่ผมต้องการ (อารมณ์เหมือน portfolio's rebalancing) โดยวางกรอบเวลาไปยาว 1 ปี จากเดือน ก.ย. 58 ไปถึง ส.ค. 59

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตัวแปรในแผนบางตัวได้เปลี่ยนไป หลังผ่านปีใหม่ 2559 มา ผมจึงได้หยุดแผนเก่าไว้และกำลังทำแผนใหม่อยู่ครับ
การมีวินัยทำตามแผนนั้นดีครับ แต่ต้องดูด้วยว่า สมมุติฐานที่ใช้ตอนวางแผนครั้งแรก มันยังเป็นจริงรึเปล่า ถ้าสมมุติฐานพวกนั้น เปลี่ยนไปหมดแล้ว ต้องปรับตัวให้ทันครับ

ทั้งหมดนั้น เป็นเหตุการณ์หลักๆด้านการลงทุนของผม ในปีที่ผ่านมา ก็มีบทเรียนที่ยังต้องเอาไปพัฒนาแก้ไขกันต่อไป ทุกครั้งที่เราคิดว่ารู้เยอะแล้ว มักจะมีเหตุการณ์ที่ดึงเรากลับมาสู่จุดที่เราคิดว่า เรายังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมาก ต้องเก่งให้ได้มากกว่านี้อีก, เป็นประจำ
ซึ่งสุดท้ายแล้ว วันที่เราเรียนจบด้านนี้นั้น อาจไม่มีอยู่จริง แต่เราอาจต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ก็เป็นได้

แล้วคุณผู้อ่านละครับ ปีที่ผ่านมาเป็นยังไงบ้าง มีประสบการณ์เจ๋งๆ หรือเรื่องคันปากอยากเล่าก็แชร์กันได้น่ะครับ :)

======================================
ปล. โดยปกติผมจะหลีกเลี่ยงการระบุชื่อตัวหุ้นตรงๆในการเขียน blog
เพราะไม่อยากให้เป็นการชี้นำอะไร เนื่องจากผมเป็นแค่นักลงทุนส่วนบุคคลเท่านั้น
แต่ผมคิดว่า การพูดถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านไปนานซักระยะนึงแล้ว
น่าจะพอทำได้โดยไม่ผิดเรื่องข้อกฏหมายอะไรด้านนี้ (เห็น blogger
ด้านการลงทุนดังๆหลายท่านเขาทำกันได้อ่ะน่ะ) และน่าจะเป็น กรณีศึกษา
ที่มีประโยชน์กับนักลงทุนคนอื่นๆได้มากกว่าที่จะพูดลอยๆโดยไม่มีตัวอย่างจาก
ของจริงมาประกอบ ก็หวังว่าจะมีประโยชน์กับคนอ่านได้บ้างน่ะครับ :)

วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

คำถามเกี่ยวกับกองทุนรวม LTF จากมือใหม่แบบสุดๆ (ภาค 2)

ถาม #7 : ทำไมคนหลายคน เลือกจะเล่นหุ้นเอง แทนที่จะลงทุน LTF

ตอบ : หลักๆคือ เพื่อผลตอบแทนที่มากกว่า เพราะโดยสถิติแล้ว ผลตอบแทนของกองทุนรวมนั้น ไม่สามารถเอาชนะค่าเฉลี่ยของตลาดได้ ดังนั้นหากเป้าหมายเราต้องการมากกว่านั้น ก็จำเป็นต้องทำอะไรแตกต่างจากคนส่วนใหญ่
และ กองทุนรวมที่มีเงินมากมายมหาศาลนั้น หลายๆครั้งจะเสียเปรียบนักลงทุนอิสระพอร์ตเล็ก เพราะ
- ด้วยความใหญ่ของมันเอง ทำให้เคลื่อนไหวได้ช้าและส่งผลกระทบต่อตลาดมาก ลงทุนได้เฉพาะกับหุ้นตัวใหญ่มากๆเท่านั้น (ซึ่งค่อนข้างอิ่มตัวกับการเติบโตแล้ว การหวังผลกำไรที่เติบโตมากๆต่อไปนั้นเป็นไปได้ยาก) ทำให้พอร์ตยิ่งขนาดใหญ่เท่าไหร่ ก็ยิ่งทำผลตอบแทนให้สูงได้ยากขึ้น
- มีกฏหมายที่ควบคุมอยู่ การเปลี่ยนนโยบายโดยพลการ ให้ต่างจากที่จดทะเบียนไว้นั้น ทำไม่ได้
- ความคาดหวังจากลูกค้าที่มักจะไม่ได้เข้าใจหลักการลงทุนระยะยาว และตื่นตกใจง่ายจากการผันผวนของตลาด ทำให้ ผจก. ต้องพยายามสู้กับความผันผวน ในขณะเดียวกันต้องพยายามทำกำไรให้สูง และเป็นขาขึ้นให้ได้มากที่สุด

ด้วยเหตุผลที่ว่ามานั้นทำให้กองทุนรวมค่อนข้างจะเหมือนโดนบังคับให้ต้องดำเนินการลงทุนแบบ passive และใช้หลักการทาง technical
... แต่ลองนึกภาพน่ะครับ กองทุนนั้นใหญ่และอุ้ยอ้าย แต่พยายามจะเล่นแบบ technical หรือ trading ซึ่งต้องใช้ความเร็วและคล่องตัว มันเป็นอะไรที่ขัดแย้งกันในตัวเองมาก
และดังนั้น ซึ่งหากเราต้องการจะลงทุนแบบ VI (ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่า) เราต้องทำเอง เพราะไม่มีกองทุนไหนจะทำแบบที่เราต้องการได้

นอกเหนือจากนั้น ก็อาจมีเหตุผลอื่นๆอีกเช่น อยากลอง, อยากศึกษา, อยากรู้สึกว่าได้เป็นเจ้าของธุรกิจจริงๆ และเป็นการลงทุนจริงๆ, อยากกำหนดชะตาชีวิตการลงทุนด้วยตัวเอง เป็นต้น

สำหรับ LTF ยังมีข้อบังคับเรื่องเวลาที่ต้องถือ 5 ปี (ตอนนี้ 7 ปี) ปฏิทิน ด้วย ซึ่งสำหรับหลายๆคนที่รักอิสระ คงไม่รู้สึกถูกชะตากับมันในแง่นี้ อีกกระทง

===========================

ถาม #8 : เงินค่าตอบแทน ที่เป็นผลกำไรจากการลงทุน LTF หรือปันผล เขาจะจ่ายให้เราทุกเวลาเท่าไหร่ คือ ฝากเงินกับกองทุนละ ฝากทุกเดือน ทีนี้ผลตอบแทนที่เขาเอาไปลงทุนแล้วแจ้งเราเนี่ย เขาจะแจ้งเราทุกเดือนรึเปล่า ที่ว่าได้ 8-12% ต่อปีเนี่ย
เพราะว่าเราฝากเงินน่ะ ฝากเข้าไปทุกเดือนเนี่ย ผลตอบแทนเขาจะโชว์เราทุกเดือนเลยรึเปล่า

ตอบ : ฟังดูแล้วท่าทางจะยังไม่เข้าใจเรื่อง นิยามและกลไก ของสิ่งที่เรียกว่า กองทุนรวม คงต้องอธิบายเริ่มต้นใหม่

เวลาเราซื้อ กองทุน เราจ่ายเงินออกไป เราจะได้ "หน่วยลงทุน" ของกองทุนนั้น มาอยู่ในบัญชีของเรา

มอง "หน่วยลงทุน" เป็นสินทรัพย์น่ะครับ แล้วจะไม่งง
เทียบกับทรัพย์สินประเภทอื่นๆ เช่น ทอง, เงิน, น้ำมัน
ราคาของ สินทรัพย์ ตัวนี้ (กองทุนรวม) คือ NAV ซึ่งจะประกาศออกมาวันละครั้ง โดย ผจก. กองทุน (ซึ่งราคานั้น จะคำนวณมาจากมูลค่าสินทรัพย์อ้างอิงที่กองทุนไปลงทุนเอาไว้ ณ วันนั้นๆ) ในบัญชีกองทุนของเรา ในนั้นมีแค่ "หน่วยลงทุน" ที่เราซื้อเอาไว้อยู่

มูลค่าหน่วยลงทุนทั้งหมดที่เรามี = จำนวนหน่วยลงทุนที่เรามี * NAVล่าสุด

ตัวอย่าง ลองเปรียบเทียบกับ ทอง

- เวลาเราซื้อทอง ราคามันก็ขึ้นๆลงๆเป็นวันๆไปเหมือนกัน และถ้าเราอยากได้เงิน ก็ต้องเอาทองไปขายคืน
- หน่วยลงทุน ของกองทุนรวม ก็เหมือนกันเลย คือราคามันก็ขึ้นๆลงๆทุกวัน ถ้าเราอยากได้เป็นเงินกลับมา ก็ต้องเอาหน่วยลงทุนไปขายคืน

ถ้าเราถือไว้เฉยๆ ไม่ขาย และกองทุนก็ไม่ปันผล เราก็จะยังไม่ได้รับเงินกำไร(และขาดทุน) คืนมาครับ
แต่ไม่แนะนำกองทุนปันผล เพราะการปันผลของกองทุน นั้นไม่เหมือนปันผลของหุ้น
มันคือการที่กองทุนนั้น หักทรัพย์สินของตัวเอง ออกมาจ่ายให้เรา ซึ่งก็จะทำให้ค่า NAV ลดลง เป็นจำนวนเท่ากันกับที่เขาหักออกมา

คือ NAVวันก่อนปันผล = NAVวันหลังปันผล + ปันผลที่ได้ต่อหน่วยลงทุน

ดังนั้นการปันผลของกองทุน ไม่มีประโยชน์เท่าไหร่ ต้องมาเสียเวลาหาที่ลงทุนใหม่อีก เราเลือกขายเองเมื่อต้องการจะดีกว่า
เรื่องปันผลนี้ เป็นส่วนสำคัญอันนึงที่กองทุนแตกต่างจากหุ้นตัวจริงๆ

สำหรับกองทุนที่มีปันผล จะปันผลปีละกี่ครั้ง ขึ้นกับนโยบายของกองทุนนั้นๆ ที่ประกาศไว้ในหนังสือชี้ชวนครับ แต่ที่ผมเจอก็มักจะ 2 ครั้งต่อปี แต่ถ้ามันไม่กำไรเลย ตกต่ำมาก ก็อาจจะไม่ปันผลได้ครับ
การปันผลก็จะ โอนเข้าในบัญชีออมทรัพย์ของเรา ที่ผูกไว้กับบัญชีกองทุนฯ ของเราครับ

ปล. แนะนำเรื่องการใช้คำ ให้ใช้คำว่า ซื้อ/ขาย หน่วยลงทุน จะทำให้เข้าใจและไม่งง
หากไปมองแบบ เป็นการ ฝาก/ถอน เงินเข้าบัญชีกองทุน มันทำให้เห็นภาพไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เป็นครับ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณถึงดูงงๆ เหมือนจะไม่เข้าใจ

===========================

ถาม #9 : ถ้าจะยกเลิก LTF แล้วเอาตังออกมา คือพอครบกำหนดแล้วก็ถอนออกมาเลยได้ไหม ต้องทำยังไง

ตอบ : หน่วยลงทุนที่ครบกำหนดแล้ว สั่งขายได้เลย ปกติระบบ online จะมีเมนูแยกต่างหาก สำหรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ คือจะมีหน้าที่บอกว่า LTF ที่ครบกำหนดแล้ว มีตัวไหน และขายได้เท่าไหร่อยู่ครับ, ขายแล้วซัก 2-3 วัน เงินค่าขายหน่วยฯ จะโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ที่เราผูกเอาไว้กับบัญชีกองทุนของเราเอง

===========================

ถาม #10 : จากที่อ่านคำตอบมา กำลังคิดว่า มันจะเป็นดอกเบี้ยทบต้นได้ยังไง
งั้นมันไม่เป็นการเก็งกำไรเหรอ คือฝากไปเรื่อยแล้วรอมันมีราคาสูง แล้วเราค่อยขายรวดเดียวไรงี้เหรอ
หรือเราจะต้องเล่นแล้วขายไปเรื่อย พอได้ % สูงทีนึง ก็ขาย แล้วก็ไปเอาเงินไปลงใหม่ ไม่สิมันซื้อได้แค่ 15% ของรายได้ปีนั้นนิ
แล้วงี้จะต่างไรกับการเก็งกำไรทั่วไป เหมือนซื้อหุ้นตอนหุ้นถูก แล้วขายตอนหุ้นแพง แต่หุ้นมันได้ปันผลนิ

ตอบ : แยกเป็น 2 คำถาม
1. เป็นการเก็งกำไรใช่หรือไม่ : ทั้ง ใช่ และ ไม่ใช่ มันขึ้นกับคนซื้อขายหน่วยลงทุน ว่าจะทำเป็นการเก็งกำไร หรือจะลงทุน
จุดแบ่งระหว่างการ เก็งกำไร กับ ลงทุน ไม่ได้ดูที่เรื่องว่า เราเอากำไรจากส่วนต่างของราคา หรือ เอากำไรจากปันผล แต่ดูจากพฤติกรรมของคนที่เล่น

นักลงทุนนั้นจะมองพื้นฐานของสิ่งที่ลงทุนก่อนและส่วนต่างของราคาเป็นผลพลอยได้(เอาเหมือนกันไม่ใช่ไม่เอา) จิตของนักลงทุน จะเป็นในลักษณะเฝ้าดูสิ่งที่ลงทุนมันเติบโตเหมือนการดูต้นไม้มันโต

ส่วนนักเก็งกำไรนั้น ไม่ค่อยสนใจพื้นฐานของสิ่งที่ลงทุน แต่เน้นการซื้อขายให้ได้กำไรอย่างเดียว อาจจะซื้อขายวันละหลายรอบ (ซึ่งถ้าเป็นกองทุนรวม ทำงี้ไม่ได้อยู่ล่ะ เพราะวันนึงซื้อขายมีผลได้ครั้งเดียว) หรือระยะเวลาถือสั้นมากและตั้งใจเล่นรอบ โดยดูสัญญานจากกราฟ technical และจิตวิทยาการลงทุน ในการชิงไหวชิงพริบกับคนอื่นๆที่อยู่ในตลาด ดังนั้นจิตของนักเก็งกำไรจะเป็นในลักษณะของการแข่งขัน มากกว่า

2. มันเป็นการทบต้นได้ยังไง : ถ้าหน่วยลงทุน มันโตแบบทบต้น เช่น โตปีละ 10% เมื่อเทียบกับ ปีที่แล้ว ทุกๆปี, การถือหน่วยลงทุนของเรา ก็ย่อมเป็นการทบต้นอยู่แล้วโดยไม่ต้องซื้อขายอะไร

หรือถ้ามองเป็นบัญชีเงินฝาก ดอกเบี้ยที่มันจ่ายให้เรา ถ้ามันลงไปรวมกับตัวเงินต้น แล้วถูกนับดอกเบี้ยรอบต่อไปด้วย มันก็เป็นดอกเบี้ยทบต้นแล้ว จะเห็นว่าไม่จำเป็นที่เราต้องถอนดอกเบี้ยนั้นออกมาก่อนแล้วฝากเข้าไปใหม่ มันถึงจะกลายเป็นทบต้นได้ เราแค่ปล่อยไว้เฉยๆมันก็ทบต้นอยู่แล้วครับ

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

คำถามเกี่ยวกับกองทุนรวม LTF จากมือใหม่ (แบบสุดๆ)

ถาม #1 : สมมุติ ผมตัดสินใจเล่น LTF จะฝากเดือนแรก 5000 เพื่อซื้อกองทุน
แล้ว 5000 นี้มันจะถูกหักจากบัญชี ธ. ที่ผมฝากเอาไว้อยู่ก่อนแล้วใช่รึเปล่า
เช่น ผมมีบัญชี กสิกร อยู่ปากซอย, ถ้าเราซื้อ เราก็ต้องซื้อที่ กสิกร
แล้วบัญชีเงินที่เขาจะหัก ก็จะหักจากบัญชีนี้ใช่มั้ย

ตอบ : บัญชีกองทุนรวม เป็นบัญชีใหม่อีกบัญชีแยกต่างหากออกไปเลยครับ และตอนเราเปิดบัญชีกองทุนรวม มันจะให้เราระบุว่าเราจะผูกบัญชีกองทุนรวมอันนี้ เข้ากับบัญชีออมทรัพย์บัญชีไหนครับ ซึ่งปกติจะผูกกับบัญชีออมทรัพย์ของ ธนาคารใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเครือธนาคารเดียวกับกองทุนรวม

อาจจะมีบ้าง บางเครือธนาคาร ที่แบบฟอร์มจะให้ใส่บัญชีของธนาคารเครือเดียวกันเท่านั้น ถ้าเป็นต่างธนาคารต้องเสียค่าทำเนียมอะไรเพิ่ม แต่นั่นก็นานมาแล้ว ผมว่ายุคนี้ไม่น่าจะมีแบบนั้นเหลือแล้วน่ะครับ เชยล่ะ

==================
ถาม #2 : เราเอาเงินให้เขาเอาไปเล่นแล้วได้กำไร เงินกำไรจะไปรวมอยู่บัญชีใหม่ หรือบัญชีที่มันหักออกไป
บัญชีกองทุนคือการเปิดบัญชีใหม่เลยเหรอ แล้วเงินมันจะไปอยู่ที่ไหนยังไง ไม่เข้าใจ

ตอบ : มองกองทุนเป็นสินทรัพย์อย่างนึง เวลาเราสั่งซื้อ เราจะได้สิ่งที่เรียกว่า "หน่วยลงทุน" กลับมาอยู่ในบัญชีกองทุนเรา, หน่วยลงทุนเป็นตัวแทนความเป็นเจ้าของในกองทุนนั้นๆของเรา
ซึ่ง 1 หน่วยลงทุนจะมีการตรามูลค่าออกมาให้ จากผู้จัดการกองทุน ปกติวันละ 1 ครั้ง
ซึ่งค่า NAV = (ทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุน - หนี้สินทั้งหมดของกองทุน)/จำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุนนั้น

ตัวอย่างเช่น
ทรัพย์สินหลักๆของกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น อธิบายอย่างหยาบๆ ก็จะมี หุ้นที่กองทุนนี้ไปซื้อเอาไว้ และส่วนที่เป็นเงินสด
หนี้สิน ส่วนใหญ่น่าจะไม่มี (ก็มันระดมเงินจากนักลงทุนมาก็คงเยอะมหาศาลอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปกู้ใครก็ได้) แต่ใส่มาในสูตรงั้นๆ ตามหลักการทางบัญชีของมันครับ

เรื่องนี้อาจเข้าใจยากหน่อยสำหรับมือใหม่ แต่จะเข้าใจง่ายมากขึ้นเคยทำบัญชีงบดุลส่วนบุคคล (aka. งบแสดงฐานะการเงิน) และเคยเล่นหุ้นฝึกอ่านงบการเงิน มาก่อน

==================
ถาม #3 :โอกาสเจ๊งของกองทุน LTF ไรพวกนี้ กับโอกาสสำเร็จ มันสำเร็จบ่อยมั้ย
เข้าใจว่ายังไงเขาก็เก่งกว่าเรา แต่อยากรู้ว่า ความเสี่ยงมีแค่ไหน
เอาข้อมูล 5 ปีย้อนหลัง มาถึงปีที่แล้ว เห็นว่า 5 ปีได้กำไร 4 ปี แล้วมี 1 ปีที่ขาดทุน แต่โดยรวมๆ มันจะกำไรมากกว่าขาดทุน

ตอบ : ต้องนิยามคำว่า "เจ๊ง" กับ "สำเร็จ" ให้ตรงกันก่อนครับ
ถ้า "เจ๊ง" หมายถึง การที่มูลค่ากองทุนที่เราถืออยู่หายไปหมด (เหลือ 0) ผมก็คิดว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ครับ
แต่ถ้าหมายถึง การที่มีมูลค่าตกต่ำลง มากบ้าง (50%+) หรือ น้อยบ้าง (10%) มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดเป็นประจำครับ และไม่เคยมีกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นกองไหน ที่ไม่เคยมีจุดที่มูลค่าตกต่ำปรากฏอยู่บนกราฟของมัน แน่นอน ไม่ว่าผู้จัดการกองทุนจะเก่งแค่ไหนก็ตาม

กองทุนรวมประเภทที่อาจจะเป็นขาขึ้นตลอดไม่เห็นจุดที่ราคาตกลงมาเลย ผมเคยเห็นแต่กองประเภท MMF เท่านั้นครับ ซึ่งเป็นกองทุนที่ความเสี่ยงต่ำมากๆ และผลตอบแทนที่คาดหวังได้ก็ต่ำมากด้วยเช่นกัน คือผลตอบแทนหวังได้แค่ราวๆ 2% ต่อปีครับ ปกติใช้เป็นที่พักเงินในกรณีไม่รู้จะไปลงทุนอะไรที่ไหนครับ เพราะความคล่องตัวจะมากกว่าบัญชีเงินฝากประจำของธนาคาร

ส่วนคำว่า "สำเร็จ" เข้าใจว่าคือมีกำไร, ก็เหมือนกันครับ เพราะราคากองทุนรวม LTF ซึ่งลงทุนหลักๆในหุ้นนั้น ราคามันก็ ขึ้นๆลงๆ เหมือนตลาดหุ้น ที่ขึ้นๆลงๆ นั่นเลยครับ แต่อาจจะผันผวนน้อยกว่าตลาดหุ้นจริงได้บ้าง ถ้านโยบายการลงทุนของกองนั้นๆ เน้นแบบอนุรักษ์นิยม เล่นแต่หุ้นใหญ่ (หุ้นอุ้ยอ้าย ตามหลักการของปีเตอร์ ลินซ์) แต่เทรนหลักๆก็จะไปตามตลาดหุ้นจริงครับ

คำถามข้อนี้จะเห็นภาพชัดกระจ่างมาก ถ้าเข้าในคำตอบจากคำถามข้อ #2 ครับ

==================
ถาม #4 : แล้วยังงี้ถ้าเราเป็นเจ้าของบัญชีกองทุนแล้วเนี่ย เราจะเข้าไปเช๊คความเคลื่อนไหวของบัญชีกองทุนเราได้ตลอดเลยรึเปล่า
แล้วเราต้องฝากเข้าไปทุกเดือนใช่มั้ย ถ้าไม่ฝากจะเป็นไง

ตอบ : เข้าไปเช๊คได้ตลอดเลยครับ ถ้าเปิดบริการลงทุน online ผ่านอินเตอร์เน็ตไว้ สามารถกลับ login เข้าไปดูเมื่อไหร่ก็ได้ครับ

การสั่งซื้อกองทุนรวมนั้น เป็นอิสระของเราโดยแท้ครับ จะซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ เท่าไหร่ก็ได้ (แหงละ เราเอาเงินไปให้เขา เขาชอบอยู่แล้ว) แต่ถ้าเป็น LTF ส่วนที่เอาไปใช้สิทธิทางภาษีได้จะต้องไม่เกินที่กฏหมายกำหนดครับ คือซื้อได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ปีนั้นๆ หรือไม่เกิน 500,000 บาท

ส่วนการสั่งขาย สำหรับ LTF ถ้าเราจะรักษาสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี เราต้องถือไว้ ห้ามขาย จนกว่ากองทุนจะครบอายุ 5 ปีปฏิทิน (แต่ถ้าซื้อปี 2559 นี้ จะเปลี่ยนเป็น 7 ปีปฏิทินแล้วน่ะครับ ผมเลยเลิกซื้อ LTF ละ) ถ้าสั่งขายก่อนครบกำหนด เราจะเสียสิทธิ์ทางภาษีทันที และส่วนเงินลดหย่อนที่เคยได้คืนไปแล้ว ก็ต้องไปจ่ายคืนให้สรรพากรด้วยครับ ไม่งั้นมีความผิดตามกฏหมาย
สำหรับกองทุนรวมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ LTF หรือ RMF ขึ้นกับเงื่อนไขของกองทุนนั้นๆครับ ลองอ่านในหนังสือชี้ชวนการลงทุนให้ละเอียดว่าเงื่อนไขการซื้อหรือขายเป็นยังไง แต่ส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างเสรีครับ

สำหรับ LTF ไม่จำกัดว่าต้องซื้อทุกเดือน เรามีอิสระครับตามที่อธิบายข้างต้น ขอแค่ซื้อภายในปีภาษีนั้นๆ ก็ใช้สิทธิ์ทางภาษีของปีนั้นได้ครับ ดังนั้นถ้าไม่ฝาก(หรือก็คือ การสั่งซื้อของทุน) ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นครับ

==================
ถาม #5 : เข้าใจว่ามันเซ็ตให้หักรายได้อัติโนมัติของแต่ละเดือนได้ เช่น 10% ของเงินเดือน เป็นสำหรับคนทำงานประจำ แต่ถ้ารายได้เราไม่แน่นอน มันจะคำนวณยังไง ว่ามันต้องหักเงินเราไปเท่าไหร่

ตอบ : คำถามนี้กำลังพูดถึงการลงทุนแบบอัติโนมัติ หรือ DCA (Dollar Cost Average) อันที่จริง ระบบมันต้องให้เราระบุชัดเจนไปเลยครับว่า เราจะให้หักทุกเดือน (หรือทุก 2 เดือน หรือ 3 เดือนก็ได้น่ะ ขึ้นกับว่าระบบของ บลจ. นั้นๆมันไฮเทคแค่ไหน) และหักเดือนละ กี่บาท ครับ เพราะระบบมันไม่มีทางรู้ครับว่าเรามีรายรับเดือนละกี่บาท

ดังนั้น เราเองต้องรู้ตัวเองครับ จากแผนการเงินของตัวเอง จากการทำบัญชีงบการเงินส่วนบุคคลของตัวเอง ว่าเรานั้นมีรายได้เฉลี่ยเดือนละกี่บาท แล้วถ้าอยากแบ่ง 10% ตามตัวอย่าง เอาไป DCA กองทุนนี้ทุกๆเดือน เราต้อง DCA เดือนละกี่บาท
เมื่อรู้แล้วก็เซ็ตระบบ DCA ไปตามนั้น เท่านั้นเองครับ

การลงทุนแบบ DCA นั้น แม้จะค่อนข้างปลอดภัย และเหมาะกับมือใหม่ แต่ไม่ใช่ว่าจะปลอดภัย 100% ซะทีเดียว ไว้มีโอกาสอื่นจะมาเล่าต่อครับ

==================
ถาม #6 : อ่านหนังสือของ tactschool แล้วยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ เห็นบอกแค่ กองแบบไหนค่าใช้จ่ายต่ำ
และบอกว่า ผลตอบแทนย้อนหลังดูได้ แต่อย่าจริงจังมาก การลงทุนให้ดูปัจจุบันเท่านั้น
การที่อดีตมีกำไร ไม่ได้แปลว่าจะกำไรได้ต่อไป การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง

ตอบ : บางคำถามผมก็คาดไม่ถึงเหมือนกันครับ แต่ก็พอนึกออกว่าตอนทีี่ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย ก็จะถามแนวๆนี้แหละ ดังนั้นไม่แปลกที่หนังสือเขาจะไม่ได้เขียนไว้ครับ เพราะพอเราฝึกมานานระยะนึง มันก็ลืมๆช่วงเวลาที่เราเริ่มต้นใหม่ๆยังไม่เป็นอะไรเลยได้ครับ ว่าตอนนั้นเราเคยถามคำถาม non sense ไว้มากแค่ไหน แต่หนังสือของ tactschool นี่ถือว่าอ่านง่ายมากและสนุกครับ แนะนำสำหรับมือใหม่

เรื่องผลตอบแทนย้อนหลัง เห็นด้วยครับตามนั้น คือดูได้น่ะ มันช่วยได้ระดับนึง แต่ต้องดูปัจจุบันด้วยว่า มันยังเหมือนเดิมกับสมัยอดีตบนกราฟที่มันดูดีนั่นรึเปล่า บางทีถ้ามีการเปลี่ยน ผู้จัดการกองทุน หรือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป นโยบายการลงทุนของแต่ละกอง ก็จะได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกันไปครับ

วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

เมื่อซื้อ LTF สิ้นปี ผลตอบแทนชนะคนทำ DCA มาทั้งปี - (จากการ์ตูน Mao-Investor ล่าสุด)

จาก : https://www.facebook.com/maoinvestor/photos/a.139219476137819.25668.138959932830440/979930195400072/?type=3

เข้าใจว่าเป็นมุขน่ะครับ แต่มุขแบบนี้ จะทำให้คนได้ความรู้ผิดๆเกี่ยวกับการลงทุนไปได้

คนทำ DCA จะเข้าใจอยู่แล้วว่าเขาจะไม่ได้ราคาต่ำสุด
แต่จะ มั่นใจได้ที่สุด ว่าต้นทุนเขาจะไม่ใช่อยู่บนยอดดอยแน่นอน และเขาจะได้ราคาเฉลี่ย

หากเป็นการ DCA บนกองทุนรวมหุ้นดัชนี ในระยะยาวๆหลายปี เขาจะได้ผลตอบแทนตามค่าเฉลี่ยของตลาดระยะยาว (ประมาณ10%) และชนะกองทุนรวมแบบ active เกือบทั้งหมดในตลาดแน่นอน

DCA เป็นรูปแบบการลงทุนที่เรียกว่า passive investment
ซึ่งใน school of investment หลายๆสำนักนั้น ก็ต้องถือว่าเป็นสาขาที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ซึ่งเป็นรองเพียงสาขาการลงทุนแบบ VI เท่านั้น
หากแต่เป็นวิธีที่ง่ายกว่าเป็นอย่างมาก เหมาะกับคนที่ไม่มีเวลาศึกษาวิเคราะห์เอง และไม่มีเวลาบริหารพอร์ตของตัวเอง

คำที่เหมาะกับการ์ตูนสี่ช่องนี้ที่สุดคือ "รู้อะไร ไม่สู้ รู้งี้"
คือ เป็นการตีความ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว
แต่ ณ วันที่เหตุการณ์ยังไม่เกิด เม่าศรี ไม่มีทางมั่นใจได้เลย ว่าสิ้นปี ผลตอบแทนจะชนะอัศวิน รึเปล่า, พูดอีกทางนึงคือ มันค่อนไปเป็นการ "เสี่ยงดวง" มากกว่าการ ลงทุน
การที่เม่าศรีได้ผลตอบแทนดีในปี 2558 ที่เพิ่งจบไปนั้น จึงเข้าข่าย "right for the wrong reason" หรือ ฟลุ๊ก นั่นเอง